จรวดลูกหนึ่งของญี่ปุ่นลอยออกจากฐานยิงในวันอังคาร (24 พ.ย.) ประสบความสำเร็จในการนำดาวเทียมพาณิชย์ดวงแรกในโครงการด้านอวกาศของประเทศ ขึ้นสู่วงโคจร ขณะที่โตเกียวพยายามเข้าสู่ธุรกิจที่เหล่าบริษัทยุโรปและรัสเซียครอบงำอยู่
องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นและมิตซูบิชิเฮฟวีอินดัสทรีส์ รับหน้าที่ตรวจตราการปล่อยจรวดจากฐานยิง ณ ศูนย์อวกาศทาเนกาชิมา ทางตะวันตกเฉียงใต้ของแดนปลาดิบ
เดิมทีกำหนดการยิงจรวด H-IIA กำหนดไว้ตอนเวลา 15.23 น. (ตรงกับเมืองไทย 13.23 น.) แต่ต้องล่าช้าออกไปราว 30 นาที หลังมีเครื่องบินขนาดเล็กลำหนึ่งบินเข้ามาใกล้สถานีอวกาศ
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วก็ประสบความสำเร็จในการปล่อยจรวดขึ้นสู่ท้องฟ้าตอนเวลา 15.50 น. (ตรงกับเมืองไทย 13.50 น.) โดยจรวดลูกนี้บรรทุกดาวเทียมแพร่สัญญาณและสื่อสาร TELSTAR 12V ของ เทเลแซท ผู้ปฏิบัติการดาวเทียมสัญชาติแคนาดา ราว 4 ชั่วโมงครึ่งต่อมา มันก็ปล่อยดาวเทียมขนาดเล็กพร้อมอุปกรณ์บรรทุก (Payload) ตามแผน จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่จากมิตซูบิชิเฮฟวีอินดัสทรีส์รายหนึ่ง “การปล่อยประสบความสำเร็จและดาวเทียมมุ่งหน้าสู่วงโคจรตามกำหนด” เจ้าหน้าที่บอกกับเอเอฟพี และในเวลาต่อมาสำนักข่าวเกียวโดนิวส์รายงานว่าดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรรูปวงรี เรียบร้อยแล้ว ญี่ปุ่นต้องการก้าวมาเป็นผู้เล่นสำคัญในภาคธุรกิจส่งดาวเทียมสู่ อวกาศ โดยพวกเขาพยายามปรับปรุงจรวด H-IIA เพื่อลดค่าใช้จ่ายของการยิงแต่ละครั้งเพื่อสามารถแข่งขันกับชาติอื่น ๆ ได้
ข้อมูลจาก ผู้จัดการ ออนไลน์
|