นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังหารือนายชินโก ซาโตะ(Shingo Sato) ประธานบริษัท MITSUI & CO.(Thailand)Ltd. ถึงแนวทางเดินรถโครงการรถไฟแนว ระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ โดยระบุว่า บริษัท MITSUI สนใจเรื่องการทำ O&M คือการเดินรถ และการบำรุงรักษาในเส้นทางความ ร่วมมือโครงการรถไฟระหว่างไทยกับญี่ปุ่น สายกาญจนบุรี-กรุงเทพ-สระแก้ว-แหลมฉบัง ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทดังกล่าวได้เข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ขอให้ทางบริษัทเร่งศึกษาแผนการเดินรถในส่วนนี้ เพราะถือเป็นโอกาสในการขนส่งสินค้าไปสู่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทวาย บริษัทฯได้มาติดตามสอบถามขอทราบ รายละเอียด และรูปแบบการทำงานของ กระทรวงคมนาคมว่า จะมีการดำเนินการอย่างไร โดยทางกระทรวงฯ ได้ชี้แจงความคืบหน้า ที่อยู่ระหว่างเตรียมการเดินทางไปหารือ และลงนามสัญญาร่วมโครงการของรองนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 25-28 พ.ย.นี้ โดยจะมี การลงนามในเอกสารความร่วมมือเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพ-แหลมฉบัง-สระแก้ว พร้อมกับการลงนามสัญญาความร่วมมือ 3 ขั้นตอน ประกอบไปด้วย 1.จะพัฒนารางเดี่ยว ซึ่งขณะนี้ ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้มีการปรับปรุงรางที่ทรุดโทรมเป็นช่วงๆ และหากหารือกับญี่ปุ่นแล้ว น่าจะสามารถ เข้ามาดำเนินการให้บริการได้เลย แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการให้บริการในเส้นทางดังกล่าวแล้วก็ตามแต่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ขั้นตอนที่ 2 จะมีการลงนามเพื่อจัดตั้ง บริษัทเดินรถร่วมกันระหว่างไทย-ญี่ปุ่น เพื่อ ทำธุรกิจ ทำการตลาดในเส้นทางกาญจนบุรี- กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง-สระแก้ว และขั้นตอนที่ 3 จะพัฒนาไปสู่การทำทางคู่ และการปรับเปลี่ยนจากการใช้หัวรถจักรดีเซลเป็นรถไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งในส่วนของขั้นตอนนี้จะต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาอีกระยะ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันขั้นตอนพัฒนา โครงการในส่วนแรก จะมีการจัดทำรถไฟรางเดี่ยว ให้เชื่อมต่อกับโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งปัจจุบัน บริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด(มหาชน) ได้ไปลงทุนที่เมียนมาแล้ว "นอกจากจัดทำรถไฟรางเดี่ยวเข้าไปทวายแล้วตามแผนงาน หลังจากนั้นเราก็จะทำถนนเชื่อมโยงเข้าไป ซึ่งทางญี่ปุ่นได้มีการสำรวจออกแบบเบื้องต้นไปแล้ว และจะเชื่อมเส้นทางถนนกับเส้นทางรถไฟให้ไปด้วยกันได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ครม.ได้อนุมัติงบประมาณ 4.5 พันล้านบาท เพื่อทำถนนเชื่อมจากน้ำพุร้อน ไปยังเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทวาย แต่ก็ยังพบว่า ขณะนี้เมียนมายังไม่สามารถนำแผนพัฒนาเข้าสู่รัฐสภาได้ ทำให้ในช่วงนี้ทางญี่ปุ่นก็จะศึกษาข้อมูลถนน และรถไฟจากพุน้ำร้อนไปทวายด้วยกันเลย" ส่วนของกรอบความร่วมมือโครงการรถไฟไทย-จีน ขณะนี้ได้ข้อสรุปถึงกำหนดการ ประชาหารือครั้งที่ 9 ที่จะมีการจัดขึ้นใน กรุงเทพฯ วันที่ 3 ธ.ค.นี้ พร้อมกับจะมีการลงนาม ในกรอบการดำเนินงานครั้งที่ 8 ที่ครม.เห็นชอบไปก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนี้ในวันเดียวกันจะมีการเดินทางลงพื้นที่ในการจัดทำพิธีเปิดโครงการและวางศิลาฤกษ์ ที่ศูนย์ควบคุมการเดินรถ และบริการเดินรถ(โอซีซี) ที่เชียงรากน้อย ซึ่งเตรียมจัดขึ้นในวันที่ 19 ธ.ค.นี้
ข้อมูลจาก มติชน ออนไลน์ |
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|