เอเอฟพี – รัฐบาลญี่ปุ่นยอมรับว่าเศรษฐกิจเริ่ม “ฟื้นตัว” (recovering) ในรายงานซึ่งเผยแพร่ออกมาในวันนี้ (17) ซึ่งถือเป็นการเลือกใช้คำดังกล่าวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกปี 2008 เป็นต้นมา ผลประเมินภาพรวมเศรษฐกิจประจำเดือนนี้ของญี่ปุ่นมีการเลือกใช้คำมี นัยยะเชิงบวกมากเป็นพิเศษในรอบหลายปี ซึ่งสะท้อนถึงความพยายามของรัฐบาลที่จะกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน “เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวในระดับปานกลาง... ในระยะสั้นคาดว่าเศรษฐกิจจะมีการขยายตัวเนื่องจากภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ มีการใช้จ่ายและลงทุนเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคการส่งออกก็มีแนวโน้มดีขึ้นเช่นกัน” รายงานระบุ รายงานเศรษฐกิจประจำเดือนนี้ถือว่าให้ภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นดีที่สุด นับตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2006 และถือเป็นข่าวดีรับปีใหม่จากนายกรัฐมนตรี อาเบะ ซึ่งดำรงตำแหน่งมาครบ 1 ปีหมาดๆ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของ อาเบะ ซึ่งเรียกกันว่า “อาเบะโนมิกส์” นั้น ส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนลง ซึ่งเป็นผลดีต่อภาคการส่งออก เนื่องจากทำให้สินค้าญี่ปุ่นมีราคาถูกและสามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ มากขึ้น ทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าของผลกำไรที่ไหลกลับเข้าประเทศ อาเบะ ให้สัญญาว่าจะแก้ไขปัญหาเงินฝืดซึ่งเป็นสาเหตุให้ชาวญี่ปุ่นไม่กล้าจับจ่าย ใช้สอย ส่งผลเสียต่อผู้ผลิต และยังทำให้ภาคธุรกิจญี่ปุ่นชะลอการลงทุนใหม่ๆ ยุทธศาสตร์หลักในพิมพ์เขียวเศรษฐกิจของ อาเบะ ก็คือ การโน้มน้าวให้บริษัทขึ้นค่าแรงพนักงาน ซึ่งจะกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากยิ่งขึ้น ข้อมูลในเดือนพฤศจิกายนพบว่า ดัชนีราคาสินค้าในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 1.2% ซึ่งเร็วที่สุดในรอบ 5 ปี และใกล้เคียงกับเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ซึ่งต้องการกระตุ้นให้เงินเฟ้อขึ้นราวๆ 2.0% นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจว่า บีโอเจจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ภายใน 2 ปีหรือไม่ ทั้งยังเตือนด้วยว่า มาตรการขึ้นภาษีจาก 5% เป็น 8% ที่จะเริ่มมีผลบังคับเดือนเมษายนอาจเป็นอุปสรรคฉุดรั้งให้เศรษฐกิจเมืองปลา ดิบฟื้นตัวช้าลงอีก
ข้อมูลจาก ผู้จัดการ ออนไลน์
|