เอเจนซีส์ – ศูนย์จัยอวกาศญี่ปุ่น Japan Aerospace Exploration Agency หรือ Jaxa ได้ร่วมมือกับบริษัท นิตโตะไซโม ที่มีประสบการณ์ในด้านอุตสาหกรรมประมงมาอย่างยาวนานเพื่อสร้าง “ตาข่ายสนามแม่เหล็ก” หรือ Electrodynamic tether สำหรับภาระกิจปี 2019 ที่สามารถดักจับขยะอวกาศนับ 100 ล้านชิ้น ที่มนุษย์ได้ทิ้งไว้ในวงโคจร โดยเปิดประเดิมทดสอบครั้งแรกในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งการทดสอบ “ตาข่ายสนามแม่เหล็ก” หรือ Electrodynamic tether ที่มีขนาดความยาว 1 กม และกว้าง 30 ซม.ของศูนย์วิจัยอวกาศญี่ปุ่น หรือ Jaxa และบริษัท นิตโตะไซโม ครั้งแรกจะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ 2014 ในเวลาที่กระสวยอวกาศซึ่งนำดาวเทียมที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยที่ มหาวิทยาลัยคากาวาจะถูกปล่อยขึ้นสู่ห้วงอวกาศ และเมื่อดาวเทียมดวงนี้ได้ขึ้นไปอยู่บนวงโคจรแล้ว ในการทดสอบครั้งแรกนี้จะคลี่ตาข่ายออกมาให้มีความยาวแค่ 300 ม.ที่สามารถสร้างสนามแม่เหล็กขึ้นได้ ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว ตาข่ายสนามแม่เหล็กนี้จะสามารถดึงขยะที่ลอยเกลื่อนเหนือชั้นบรรยากาศขึ้นมา ติดได้ ซึ่งคาดกันว่ามีขยะอวกาศที่มนุษย์สร้างทิ้งไว้ราว 100 ล้านชิ้น ซึ่งเชื่อกันว่าขยะจำนวนราว 22,000 ชิ้นนั้นที่มีขนาดตั้งแต่ 10 ซม.หรือใหญ่กว่านั้นเป็นอันตรายร้ายแรงต่อดาวเทียมและยานอวกาศ ขยะอวกาศนั้นมีอยู่อย่างหนาแน่นในระดับ 700-1,000 กม.ห่างจากพื้นผิวโลก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ จากรายงานพบว่า ซากขยะอวกาศพวกนี้ไม่สามารถคอยตรวจสอบได้ และถึงแม้จะมีขนาดเล็กเท่าน็อตก็สามารถเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อดาวเทียม ที่ยังใช้งานได้ หรือแม้กระทั่งสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ที่มีมนุษย์อวกาศประจำอยู่ และจากการศึกษาในสหรัฐฯล่าสุดพบว่า หากมีการชนกันระหว่างดาวเทียม 2 ดวงเกิดขึ้นสามารถส่งผลให้เกิด “ปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ไม่สามารถควบคุมได้” ที่จะสามารถทำลายระบบการสื่อสารทั้งหมดบนพื้นโลกได้ โดยตาข่ายสนามแม่เหล็กนี้ทำมาจากเส้นลวดโลหะ 3 เส้นที่มีความแข็งแรง และมีความยาวที่ปรับได้ โคจิ โอซากิ วิศวกรหัวหน้าทีมพัฒนาของบริษัท นิตโตะไซโม ซึ่งมีฐานอยู่ในฮิโรชิมา ได้อาศัยประสบการณ์ที่ยาวนานของบริษัทในด้านอุตสาหกรรมการประมงมาพัฒนา ตาข่ายสนามแม่เหล็กขึ้น “ทางเราได้เริ่มโปรเจกต์นี้เมื่อ 5 ปี ก่อน และเราต่างตื่นเต้นที่จะดูผลการทดสอบในเฟสแรกที่ถึงนี้” โอซากิ เผยกับเซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ และโอซากิเผยต่อไปว่า “อวนจับปลาจำเป็นต้องแข็งแรงเพื่อที่จะสามารถจับปลาได้เป็นจำนวนมาก แต่ “Electrodynamic tether” ไม่จำเป็นต้องแข็งแรงขนาดนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ “ความยืดหยุ่น”” ในอนาคต Jaxa มีแผนที่จะใช้ยานอวกาศเพื่อติดตาข่ายสนามแม่เหล็กเพื่อที่จะเก็บซากขยะอวกาศ ขนาดใหญ่ เช่น เครื่องยนต์กระสวยอวกาศ หรือดาวเทียมที่ไม่ได้ใช้แล้ว และปล่อยทิ้งให้ลอยอยู่ในอวกาศ นอกจากนี้ทาง Jaxa มีแผนที่จะทดสอบอีกครั้งในปีถัดไปหากการทดสอบครั้งแรกประสบความสำเร็จ และจะนำตาข่ายสนามแม่เหล็กมาใช้ในต้นปี 2019
ข้อมูลจาก ผู้จัดการ ออนไลน์
|