เอเอฟพี/เอเจนซีส์ – ไทยได้เขยิบจากอันดับ 4 ขึ้นมาสู่อันดับ 3 ในรายชื่อประเทศที่พวกบริษัทญี่ปุ่นต้องการเข้ามาลงทุนมากที่สุด ขณะที่จีนพลาดตำแหน่งอันดับหนึ่งเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น และความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศ ผลสำรวจครั้งล่าสุดระบุ ส่วนประเทศที่ครองอันดับหนึ่ง คือ อินโดนีเซีย ที่ขยับรวดเดียวมาจากอันดับที่ 3 เพราะได้รับความนิยมจากภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ในแดนอาทิตย์อุทัย ตั้งแต่ยานยนต์ ไปจนถึงอิเล็กทรอนิกส์ รายงานการสำรวจซึ่งจัดทำโดย ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิค) ชี้ นอกจากนี้ ธนาคารของรัฐบาลแดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้ ยังระบุในผลสำรวจประจำปีที่นำออกเผยแพร่เมื่อวันศุกร์ (29 พ.ย.) ว่าจีนร่วงกราวลงมาสู่อันดับที่ 4 ทั้งที่เคยได้รับการขนานนามว่าเป็นจุดหมายปลายทางที่เจิดจรัสมากที่สุด สำหรับการขยายฐานการลงทุนไปในต่างประเทศมานานถึง 21 ปี ทั้งนี้ ในการสำรวจ เจบิคขอให้บริษัทต่างๆ ที่ขยายกิจการในต่างแดนอยู่แล้วเลือกประเทศและภูมิภาค 5 อันดับแรกที่ดูมีแววรุ่งในการทำธุรกิจในอีก 3 ปีข้างหน้า 44.9 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทเกือบ 500 แห่งที่ตอบคำถามต่างระบุว่า อินโดนีเซียเป็นจุดหมายที่ดีในการทำธุรกิจ ขณะที่จีนได้รับคะแนนความนิยมต่ำสุดเท่าที่เคยมีมา คือ 37.5 เปอร์เซ็นต์ ลดลงจากเดิมที่ 62.1 เปอร์เซ็นต์ 4 กว่า 10 ในบรรดาบริษัทที่ปีนี้ไม่เลือกจีนเผยว่า ค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น และความยากลำบากในการจ้างพนักงานให้เพียงพอกับความต้องการ เป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขากังวล
สำหรับความกังวลในด้านอื่นๆ คือ เศรษฐกิจจีนเติบโตช้าลง มีอัตราการแข่งขันสูงขึ้น และความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่าง 2 ประเทศไม่ราบรื่น เนื่องจากญี่ปุ่น และจีน กำลังมีปัญหาขัดแย้งกันเรื่องหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออก นอกจากนี้ ผลสำรวจล่าสุดของเจบิคชี้ให้เห็นว่า อินเดียยังสามารถรักษาอันดับ 2 ไว้ได้ แม้จะมีบริษัทเพียง 43.6 เปอร์เซ็นต์ลงคะแนนให้ ซึ่งลดลงจากเดิมที่ 56.4 เปอร์เซ็นต์ เนื่องค่าแรงในอินเดียเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่ยังย่ำแย่ ขณะที่ไทยกระเถิบจากอันดับ 4 เมื่อปีที่แล้ว ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 3 อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจนี้จัดทำขึ้นก่อนที่จะเกิดการประท้วงของฝ่ายค้านในไทย ทั้งนี้ ใน 20 ประเทศแรกที่นักลงทุนในญี่ปุ่นหมายตา เป็นประเทศในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) รวม 9 ราย ชินจิ อายูฮะ จากแผนกวิจัยของเจบิคชี้ว่า “บรรดาบริษัทญี่ปุ่นใช้ประเทศอาเซียนเป็นฐานการผลิตมานานมากแล้ว แต่ตอนนี้พวกเขายอมรับว่าประเทศเหล่านี้เป็นตลาดที่มีแววจะไปได้สวยเช่นกัน” ส่วนประเทศอื่นๆ ที่อยู่ใน 20 อันดับแรก ยังมีดังเช่น บราซิล เม็กซิโก ตุรกี และรัสเซีย
ข้อมูลจาก ผู้จัดการ ออนไลน์
|