'ไอทาโร่' เป็นเกอิชาชายคนเดียวในญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามากไปด้วยความสามารถ ทั้งการแสดง ร่ายรำ ชงชา และเอาใจลูกค้า
6 ธ.ค. 55 ในยุคนี้สมัยนี้ ศิลปะการแสดงของเกอิชา ได้กลายเป็นสิ่งที่หาดูได้ยากตามแหล่งบันเทิงในเมืองใหญ่ และสถานตากอากาศช่วงฤดูร้อน ด้วยเพราะความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ และนโยบายด้านการบันเทิง ทำให้ศิลปะชั้นสูงอย่างเกอิชา กลายเป็นความบันเทิงที่หาดูได้ยาก เมื่อ 100 ปีก่อน มีคนยึดอาชีพเกอิชากว่า 8 หมื่นคน ปัจจุบันเหลือแค่ประมาณ 1 พันคน "ไอทาโร่" เป็นผู้ชายคนเดียวที่ยึดอาชีพเกอิชา เขาเป็นเจ้าของร้าน โอกิยะ ที่ยังมีเกอิชาไว้คอยบริการลูกค้าในย่านท่าเรือ โอโมริ ในกรุงโตเกียว ซึ่งเมื่อช่วงศตวรรษที่ 20 อาชีพเกอิชาเบ่งบานอันเนื่องมาจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจในภาค อุตสาหกรรม เมื่อช่วงทศวรรษที่ 1980 ร้านโอกิยะ ต้องปิดร้านเพราะเบื่อหน่ายพวกนักพัฒนาที่ดิน ที่มาตื๊อขอซื้อที่ดินในช่วงที่อสังหาริมทรัพย์เบ่งบานแห่งยุคฟองสบู่ แม่ของไอทาโร่ พยายามกอบกู้อาชีพนี้ให้อยู่รอด ก่อนจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อ 3 ปีก่อน แม้ไอทาโร่จะเป็นผู้ชาย แต่เขาก็พยายามฝึกฝนเพื่อสานต่อเจตนารมย์ของแม่ และหัดร่ายรำเมื่ออายุเพียง 8 ขวบ และได้แสดงครั้งแรกที่โรงละครแห่งชาติเมื่ออายุเพียง 11 ปี ปัจจุบันเขากลายเป็นที่นิยมทั้งการแสดงบนเวทีหรือทางโทรทัศน์ ซึ่งไอทาโร่ และไมกะ น้องสาว ยังคงตามรอยแม่ ด้วยการเปิดร้านและมีเกอิชาให้บริการ เกอิชา ถือกำเนิดเมื่อช่วงศตวรรษที่ 17 โดยผู้ชายกลุ่มหนึ่ง เพื่อให้บริการลูกค้าในย่านบันเทิงเป็นที่รู้ดีว่า เกอิชาจะมีความสามารถในการเอาใจลูกค้า ทั้งร่ายรำและชงชา ส่วนเกอิชาที่เป็นผู้หญิงเริ่มต้นในช่วงกลางทศวรรษที่ 1700 และกลายเป็นอาชีพของผู้หญิงเมื่อช่วงทศวรรษที่ 19 ปัจจุบัน พวกผู้ชายได้หันไปทำหน้าที่ตีกลองหรือร้องเพลงประสานเสียงกับเกอิชาผู้หญิง มีแต่ไอทาโร่เท่านั้น ที่แต่งกายแบบผู้หญิงและแสดงเหมือนเกอิชาผู้หญิงทุกอย่าง และเป็นคนเดียว ที่ได้ไปแสดงตามงานเลี้ยงที่จัดเป็นการส่วนตัว หรือขึ้นเวทีกรณีมีงานสำคัญต่างๆ
ข้อมูลจาก คม ชัด ลึก |
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|