สภาผู้แทนราษฎรของญี่ปุ่น ผ่านความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคฟื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ในวันนี้ (10) ความเคลื่อนไหวที่ถูกมองว่าเป็นท่าทีอันเปล่าประโยชน์ เนื่องจากถูกต่อต้านโดย โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ผู้สนับสนุนข้อตกลงสมาชิก 12 ชาตินี้ ระบุว่า มันจะทำให้สหรัฐฯสามารถกำหนดระเบียบการค้าของโลกในขณะที่อิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนกำลังแผ่ขยาย แต่ทรัมป์คัดค้านข้อตกลงนี้อย่างรุนแรง และคาดการณ์ว่า อนาคตของมันจะมืดมน นอกจากญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ทีพีพีประกอบด้วยประเทศอื่นอีก 10 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม หากมันมีผลบังคับใช้อย่างเต็มที่ มันจะคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ของเศรษฐกิจโลก ทีพีพีถูกมองว่าเป็นเครื่องมือคานอำนาจกับจีน ในขณะที่ปักกิ่งกำลังขยายเขตอิทธิพลและส่งเสริมวิธีการทำธุรกิจของพวกเขาเอง ซึ่งถูกมองว่า มักขัดกับมาตรฐานโลกของตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและเคารพสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสิ่งแวดล้อม นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ทำให้ทีพีพีเป็นส่วนสำคัญในแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจของเขาเพื่อรื้อฟื้นภาคการส่งออกที่สำคัญของประเทศนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ด้วยชัยชนะของทรัมป์ ข้อตกลงนี้เป็นหมันตั้งแต่เริ่มต้น “ความหวังในทีพีพีของญี่ปุ่นดับสิ้นและถูกฝังกลบ” Marcel Thieliant นักเศรษฐศาสตร์จาก Capital Economics กล่าว “ผลลัพธ์นี้คือ ความเสียหายระยะยาวสำหรับญี่ปุ่นจากการที่ทีพีพีไม่ได้มีผลบังคับใช้อีกต่อไปแล้ว” ทรัมป์ กล่าวว่า เขาสนับสนุนการค้าเสรี แต่ว่าข้อตกลงที่มีอยู่ตอนนี้ เช่น ความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) ระหว่างสหรัฐฯ แคนาดา เม็กซิโก ไม่ได้มีการเจรจากันอย่างเท่าเทียม และไม่ได้รองรับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ทำเนียบขาวเตือนว่า ความล้มเหลวในการอนุมัติทีพีพี จะทำให้เงินหลายพันล้านดอลลาร์ในการส่งออกของสหรัฐฯตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการแข่งขันจากจีน
ข้อมูลจาก ผู้จัดการ ออนไลน์
|