แหล่งข่าวผู้ไม่ประสงค์ออกนามระบุว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับการพัฒนาซึ่งอยู่ในคำร้องเบิกงบประมาณจะรวมถึงค่าใช้จ่ายของระบบต่อต้านขีปนาวุธแบบใหม่ ทั้งยังครอบคลุมไปถึงเงินสำหรับปรับปรุงเพิ่มระยะและความแม่นยำของ PAC-3 Patriot ซึ่งเป็นของเดิมที่ใช้อยู่ อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยเกี่ยวกับระบบต่อต้านขีปนาวุธใหม่ของญี่ปุ่น อย่างเช่น THAAD หรือ Aegis Ashore ยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายปี โดยแหล่งข่าวบอกว่าญี่ปุ่นจะเร่งปรับปรุง Patriot เสียก่อน แต่ดูเหมือนจะไม่อาจทำได้เร็วขึ้นมากนัก เพราะติดตรงศักยภาพที่จำกัดของบริษัทที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น Mitsubishi Heavy Industries และ Raytheon ที่ตารางงานแน่นอยู่แล้ว สื่อญี่ปุ่นเคยรายงานไว้ก่อนหน้านี้ว่า ตัวเลขงบประมาณกลาโหมจะมีจำนวนมากถึง 3 แสนล้านเยน โดยทางรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ยังไม่บอกว่าจะมีการขอให้บรรดา ส.ส.ช่วยอนุมัติค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมหรือไม่ ก่อนที่การหารือเรื่องงบประมาณสำหรับปีหน้าจะเริ่มขึ้น ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่นยังไม่มีการแสดงความเห็นใดๆ สำหรับเรื่องนี้ เทคโนโลยีขีปนาวุธของเกาหลีเหนือมีความคืบหน้าเร็วกว่าที่คาดกันไว้ ทำให้ญี่ปุ่นรู้สึกได้ถึงภัยคุกคามที่เพิ่มมากขึ้น ญี่ปุ่นและเกาหลีเหนือนั้นมีการแข่งขันกันในด้านอาวุธมานานนับ 2 ทศวรรษแล้ว หลังจากที่เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธลอยข้ามประเทศญี่ปุ่นไปตกในมหาสมุทรเมื่อปี 1998 ในปีนี้ เกาหลีเหนือได้ทดสอบยิงขีปนาวุธไปแล้วอย่างน้อย 21 ครั้ง รวมถึงทดสอบนิวเคลียร์ 2 ครั้ง โดยเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ขีปนาวุธพิสัยกลาง “มูซูดัน” ได้พุ่งสูงขึ้นไปถึง 1,000 กิโลเมตร ซึ่งทำให้วิถีโคจรของขีปนาวุธดังกล่าวอาจจะเกินระยะทำการของเรือพิฆาต Aegis ที่ติดตั้งขีปนาวุธ SM-3 ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ระบบต่อต้านขีปนาวุธ PAC-3 Patriot ที่คอยปกป้องเมืองสำคัญต่างๆ กลายเป็นปราการด่านสุดท้ายสำหรับปกป้องตนเอง แต่การปรับปรุงศักยภาพจะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะถึงปี 2020 ที่เป็นช่วงเวลาของการจัดแข่งกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียว หัวรบของขีปนาวุธเกาหลีเหนือ อาทิ ขีปนาวุธโรดอง ถูกประเมินว่าจะมีระยะทำการ 1,300 กิโลเมตร เคลื่อนที่ด้วยความเร็วถึง 3 กิโลเมตรต่อวินาที ส่วนหัวรบของขีปนาวุธมูซูดันจะบินได้ไกลถึง 3,000 กิโลเมตร โดยช่วงที่ตกลงมาจากอวกาศจะมีความเร็วเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เท่า ในปีหน้าญี่ปุ่นมีแผนจะจัดหา SM-3 เวอร์ชันที่มีอานุภาพมากขึ้น ซึ่งถูกขนานนามว่า Block IIA โดยจะร่วมกันพัฒนากับสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการระบุว่าจะเริ่มใช้งานได้เมื่อไหร่
ข้อมูลจาก ผู้จัดการ ออนไลน์
|