ญี่ปุ่นเริ่มเปิดสวิตช์สถานีเรดาร์แห่งใหม่ในทะเลจีนตะวันออกวันนี้ (28 มี.ค.) ทำให้แดนอาทิตย์อุทัยมีจุดรวบรวมข่าวกรองถาวร ซึ่งทั้งอยู่ประชิดกับไต้หวันและกลุ่มหมู่เกาะเล็กๆ ที่ญี่ปุ่นกับจีนพิพาทช่วงชิงกรรมสิทธิ์กันอยู่ ทางด้านปักกิ่งได้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างขุ่นเคืองตามคาดหมายต่อความเคลื่อนไหวของโตเกียวคราวนี้ สถานีเรดาร์แห่งใหม่ของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นนี้ตั้งอยู่บนเกาะโยนางูนิ (Yonaguni) ซึ่งอยู่ตรงริมตะวันตกสุดของหมู่เกาะยาเอยามะ ของญี่ปุ่นในทะเลจีนตะวันออก โดยที่หมู่เกาะยาเอยามะยังถือเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะริวกิว ขณะที่เกาะโยนางูนิเองนั้นอยู่ห่างจากเกาะไต้หวันไปทางตะวันออกราว 100 กิโลเมตร และอยู่ห่างราว 150 กิโลเมตรทางด้านใต้ของหมู่เกาะเล็กๆ ซึ่งโตเกียวกับปักกิ่งพิพาทชิงกรรมสิทธิ์กันอยู่ โดยฝ่ายญี่ปุ่นเรียกชื่อว่าเซงกากุ ส่วนทางจีนเรียกว่า เตี้ยวอี๋ว์ “จวบจนถึงเมื่อวานนี้ยังไม่มีหน่วยสังเกตการณ์ชายฝั่งใดๆ ทางด้านตะวันตกของเกาะใหญ่โอกินาวะเลย มันจึงเป็นสุญญากาศที่เราจำเป็นต้องเติมเข้าไป” เป็นคำพูดของ ไดโงะ ชิโอมิสึ นายทหารยศร้อยโทแห่งกองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดิน ซึ่งก็คือกองทัพบกญี่ปุ่น เขาเป็นผู้บังคับการของค่ายทหารแห่งใหม่บนเกาะโยนางูนิแห่งนี้ “มันหมายความว่าจากนี้ไปเราสามารถที่จะเฝ้าตรวจตราพื้นที่รอบๆ ญี่ปุ่น และตอบโต้กับสถานการณ์ทุกๆ อย่าง”
ชิโอมิสึเข้าร่วมพิธีเปิดสวิตช์สถานีเรดาร์ที่ค่ายแห่งนี้ พร้อมกับบุคลากรทางทหาร 160 คน และผู้มีเกียรติอีกราว 50 คน งานก่อสร้างอาคารบางแห่งซึ่งก่อผนังสีขาวและมุงหลังคากระเบื้องสีแดงแบบโอกินาวายังไม่เสร็จสิ้นเรียบร้อย เกาะขนาด 30 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้เป็นที่พำนักของประชาชนราว 1,500 คน ซึ่งส่วนใหญ่ทำอาชีพเลี้ยงปศุสัตว์และปลูกอ้อย การมีทหารของกองกำลังป้องกันตนเองพร้อมครอบครัวเข้ามา จะทำให้ประชากรของที่นี่เพิ่มขึ้นราวหนึ่งในห้า ทางด้าน โนโซมุ โยชิโตมิ อาจารย์ของมหาวิทยาลัยนิฮง และเป็นพลตรีเกษียณอายุของกองกำลังป้องกันตนเอง กล่าวให้ความเห็นว่า สถานีเรดาร์แห่งนี้จะต้องทำให้จีนโกรธเกรี้ยวแน่ๆ เขาเสริมว่า ค่ายแห่งนี้นอกจากเป็นที่มั่นสำหรับการตรวจการณ์ติดตามแล้ว ยังสามารถใช้เป็นฐานเพื่อการปฏิบัติการทางทหารในบริเวณนี้ได้อีกด้วย
ปรากฏว่าปฏิกิริยาตอบโต้ของฝ่ายจีนเป็นไปตามคาดหมาย โดยในคำแถลงฉบับหนึ่งที่พูดถึงสถานีเรดาร์แห่งนี้ ซึ่งส่งมายังสำนักข่าวรอยเตอร์ กระทรวงกลาโหมจีนกล่าวว่าประชาคมระหว่างประเทศจำเป็นจะต้องตื่นตัวระวังภัยอย่างสูงเกี่ยวกับการขยายตัวทางทหารของญี่ปุ่น
“หมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์เป็นดินแดนของจีนมาแต่ไหนแต่ไร เราคัดค้านอย่างเด็ดเดี่ยวต่อพฤติการณ์ยั่วยุใดๆ ก็ตามของฝ่ายญี่ปุ่นซึ่งพุ่งเป้าต่อดินแดนของจีน” คำแถลงนี้ระบุ ขณะเดียวกันก็บอกด้วยว่า สำหรับ “กิจกรรมต่างๆ ของเรือจีนและเครื่องบินจีนในน่านน้ำและน่านฟ้าที่เกี่ยวข้องนั้น เป็นสิ่งที่กระทำไปด้วยความเหมาะสมและถูกกฎหมายอย่างสมบูรณ์” ในทัศนะของฝ่ายญี่ปุ่นแล้ว การตั้งสถานีเรดาร์ขึ้นที่เกาะโยนางูนินับว่าเหมาะเหม็งกับการเพิ่มแสนยานุภาพทางทหารของแดนอาทิตย์อุทัยตามแนวเกาะต่างๆ ในอาณาบริเวณหมู่เกาะริวกิวที่แผ่ยาวเหยียดกว่าพันกิโลเมตร ระหว่างเกาะคิวชู ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เกาะหลักของประเทศญี่ปุ่น ไล่เรียงลงมาจนถึงเกาะไต้หวัน พวกผู้กำหนดนโยบายได้บอกกับรอยเตอร์เมื่อปีที่แล้วว่า ค่ายแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่จะกีดกันไม่ให้จีนเข้าสู่มหาสมุทรแปซิฟิกฟากตะวันตกได้อย่างสะดวกง่ายดาย ถึงแม้ปักกิ่งกำลังพยายามหาทางควบคุมทะเลจีนใต้อยู่ในขณะนี้
ขณะที่ โทชิ โยชิฮาระ อาจารย์วิทยาลัยสงครามนาวีของสหรัฐฯ ชี้ว่า เกาะโยนางูนิตั้งอยู่ใกล้กับจุดที่อาจกลายเป็นจุดร้อนระอุขึ้นมาในเอเชียถึง 2 จุด ได้แก่ ไต้หวัน และหมู่เกาะเซงกากุ/เตี้ยวอี๋ว์ เขากล่าวอีกว่า การตั้งเครือข่ายของสถานีเรดาร์เหลื่อมซ้อนกันไปตามแนวเกาะต่างๆ ของหมู่เกาะริวกิว จะเพิ่มพูนความสามารถของญี่ปุ่นในการตรวจตราเฝ้าระวังทะเลจีนตะวันออก ระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ญี่ปุ่นวางแผนจะเพิ่มทหารกองกำลังป้องกันตนเองของตนในย่านทะเลจีนตะวันออกขึ้นไปอีกราวหนึ่งในห้า จนอยู่ในระดับเกือบๆ 10,000 นาย โดยที่จะนำเอาระบบขีปนาวุธเข้ามาประจำการด้วย ซึ่งจะช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถสร้าง “ม่านแห่งการป้องกัน” ขึ้นตามแนวเกาะยาวเหยียดของตน เรือของจีนที่แล่นออกจากชายฝั่งทะเลตะวันออกแดนมังกรจะต้องผ่านแนวขวางกั้นนี้จึงจะสามารถเข้าสู่แปซิฟิกตะวันตก อันเป็นเส้นทางผ่านที่จำเป็นสำหรับปักกิ่งทั้งในฐานะที่เป็นเส้นทางลำเลียงขนส่งติดต่อกับมหาสมุทรอื่นๆ ของโลก และทั้งสำหรับการสำแดงแสนยานุภาพทางนาวี
ข้อมูลจาก ผู้จัดการ ออนไลน์
|