เครื่องบินโบอิ้ง 747-400 ลำหนึ่ง ได้นำวัวพันธุ์เนื้อจำนวน 300 ตัว จากประเทศออสเตรเลียไปถึงนครเวียงจันทน์สัปดาห์นี้ อันเป็นการเริ่มต้นการนำเข้าวัวเนื้อกับวัวนม ที่สั่งซื้อจำนวนทั้งหมดกว่า 1,000 ตัว สำหรับฟาร์มเลี้ยงในแขวงเชียงขวาง ถิ่นทุ่งไหหินที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก สื่อของทางการรายงาน ภาพที่แชร์กันผ่านเฟซบุ๊กแสดงให้เห็นเครื่องบินจัมโบ้เจ็ตลำหนึ่ง จอดที่่อากาศยานวัดไต ผู้นำภาพขึ้นโพสต์กล่าวว่า เป็นเหตุการณ์ตอนเที่ยงวันที่ 3 พ.ย. ซึ่งวัวล็อตแรกกว่า 100 ตัว เดินทางไปถึง ตามคำสั่งซื้อของบริษัทพัฒนากสิกรรมลาว-ญี่ปุ่นเชียงขวางจำกัด วัวทั้งหมดจะส่งไปยังฟาร์มเลี้ยงขนาดใหญ่ ในแขวงภาคเหนือ หนังสือพิมพ์ปะเทดลาวรายงาน อ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ ที่ระบุว่าบริษัทร่วมทุนลาว-ญี่ปุ่นดังกล่าว ได้รับสัมปทานที่ดินว่างเปล่าราว 1,500 เฮกตาร์ (9,375 ไร่) ในเขตเมืองแปก ซึ่งในนั้นแบ่งเป็นพื้นที่เลี้ยงวัวเนื้อ กับอีกส่วนหนึ่งเลี้ยงวัวนม เพื่อสนองความต้องการภายในประเทศ และ ส่งออก บริษัทญี่ปุ่นได้สร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์เนื้อและนมขึ้นที่นั่น "ปัจจุบันนี้เนื้อที่ว่างเปล่าและเสื่อมโทรมได้รับการปรับปรุง และ ปลูกหญ้าเกือบสำเร็จแล้ว วัวเนื้อทั้ง 300 ตัวมีอาหารรองรับไว้แล้ว" หนังสือพิมพ์ปะเทดลาวรายงานในเว็บไซต์ ยังมีวัวทั้งพันธุ์เนื้อ และ วัวนมอีก 1,000 ตัว จากออสเตรเลีย ที่กำลังจะเดินทางติดตามกันไปยังฟาร์มเลี้ยงขนาดใหญ่แห่งนี้ สื่อของทางการกล่าว เขตเมืองแปก แขวงเชียงขวาง ไม่ได้ต่างไปจากเมืองอื่นๆ ที่เคยเป็นสมรภูมิรบร้อนระอุในช่วงสงครามอินโดจีน กองทัพสหรัฐได้ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด จากฐานทัพอากาศทั้งในประเทศไทย และในเวียดนาม ไปทิ้งระเบิดในเชียงขวางอย่างหนักหน่วง เพื่อสกัดกั้นการรุกคืบของฝ่ายคอมมิวนิสต์ปะเทดลาว หลายพื้นที่ยังคงมีหลุมระเบิดขนาดใหญ่ปรากฏให้เห็น มาจนทุกวันนี้ เชียงขวางเป็นอีกเขตหนึ่ง ที่มีวัตถุระเบิดตกค้างมาแต่ครั้งสงครามหนาแน่นที่สุด เป็นหนึ่งในสามจุดที่มีการเก็บกู้วัตถุระเบิดอย่างต่อเนื่องยาวนาน ตลอดเวลาเกือบ 20 ปีมานี้ ด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลหลายประเทศ รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศ ข่าวคราวการเซ็นสัญญาสัมปทาน เพื่อเข้าลงทุนทำฟาร์มเลี้ยงวัวในแขวงนี้เมื่อหลายปีก่อน จึงไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก หลายฝ่ายเชื่อว่าอาจเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงวัวเนื้อและวันขุนส่งออก ได้กลายเป็นธุรกิจที่น่าสนใจอีกแขนงหนึ่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และ มีผู้ลุงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในภาคเหนือของไทย และ ภาคเหนือเวียดนาม โดยมีตลาดใหญ่จีนที่รับซื้อไม่อั้น โดยให้ราคาสูง 110-120 บาทต่อกิโลกรัม.
ข้อมูลจาก ผู้จัดการ ออนไลน์
|