โดยปกติแล้วคนญี่ปุ่นมักจะไม่จัดงาน สังสรรค์ที่บ้าน เนื่องจากบ้านของคนญี่ปุ่นมีขนาดค่อนข้างเล็ก และคนญี่ปุ่นถือว่าการที่คนแปลกหน้าเข้ามาในบ้านเป็นเรื่องใหญ่ แต่ถ้าคุณต้องการจัดงานสังสรรค์ที่บ้านจริงๆ คุณควรจะรู้ไว้ก่อนว่า เมื่อคุณบริการเครื่องดื่มให้แก่แขกแล้ว คุณอาจจะต้องเชื้อเชิญถึงสามครั้งสามหนก่อนที่แขกจะดื่ม เพราะโดยมารยาทแล้วคนญี่ปุ่นจะเป็นคนเกรงใจผู้อื่น แต่ถ้าแขกยังคงปฎิเสธอยู่ นั่นก็แสดงว่าเขาไม่ต้องการจริงๆ โดยปกติแล้ว คนญี่ปุ่นมักจะไม่บริการขนมคบเคี้ยวต่างๆ แก่แขกที่มาถึงก่อน แต่มักจะรอให้แขกมาพร้อมกันหมดเสียก่อนแล้วจึงค่อยเสิร์ฟ อีกอย่างคืออย่าลืมว่าทุกมื้อของคนญี่ปุ่นจะต้องมีข้าวเสมอ
งานเลี้ยงสังสรรค์นอกบ้าน ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “โนมิไก (nomikai)” ส่วนใหญ่แล้วมักจะจัดที่ร้านอาหาร ห้องจัดเลี้ยงในโรงแรม หรือสถานที่สาธารณะอื่นๆ ก่อนที่งานเลี้ยงจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ ผู้ร่วมงานแต่ละคนมักจะเดินต้อนรับผู้อื่นไปทั่วๆด้วยการทักทายและโค้งคำนับ
งานเลี้ยงตามธรรมเนียมญี่ปุ่นดั้งเดิมเรียกว่า “เอนไก (enkai)” ทุกคนจะนั่งคุกเข่าหรือไม่ก็นั่งขัดสมาสหน้าโต๊ะเตี้ยๆ แล้วจะมีคนกล่าวเริ่มงาน บางครั้งอาจจะมีการแนะนำตัวกันด้วยในช่วงนี้ โดยปกติแล้วคุณก็แค่บอกชื่อและบริษัทที่ทำงานอยู่และแสดงการขอบคุณที่ได้รับ เชิญมาถ้าไม่มีใครถามอะไรอย่างอื่น คุณไม่ควรดื่มหรือรับประทานก่อนที่เจ้าภาพจะเชื้อเชิญและทางที่ดีควรจะรอให้ ผู้อื่นเริ่มก่อน เมื่อมีเบียร์วางอยู่หน้าคุณ คุณควรที่จะรินเบียร์ให้แก่ผู้อื่นที่นั่งอยู่ใกล้ๆกับคุณก่อน ยิ่งคุณบริการผู้อื่นมากแค่ไหน คุณก็จะได้รับการชื่นชมมากขึ้นเท่านั้น เมื่อมีการชักชวนให้ทุกคนดื่มอวยพรร่วมกัน คุณควรที่จะยกแก้วเบียร์ขึ้นและกล่าวคำว่า “คัมไป (kampai)” ชนแก้วกับผู้อื่นแล้วดื่มให้มากที่สุดที่ทำได้ หมดได้ยิ่งดี แต่ถ้าคุณไม่ใช่นักดื่มแล้วละก็ ไม่เป็นไรนะครับ คุณเพียงแค่ยกแก้วขึ้นแตะริมฝีปาก จากนั้นก็วางแก้วลง หาแก้วใบใหม่แล้วรินน้ำอัดลมหรือน้ำส้มตามแต่คุณจะชอบ แต่ถ้าคุณเป็นนักดื่ม คุณก็สามารถที่จะดื่มไปและรินเบียร์หรือเหล้าบริการแก่ผู้อื่นไปด้วย
ในระหว่างงานเลี้ยง คุณควรหาโอกาสรินเบียร์ให้แก่ผู้หลักผู้ใหญ่หรือเพื่อนคนอื่นๆ ที่นั่งอยู่ไกลออกไป โดยการเดินด้วยเข่าไปรอบๆ โต๊ะซึ่งเขาก็จะรินเบียร์ให้แก่คุณด้วยเช่นกันเพื่อดื่มฉลองด้วยกัน การทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการให้เกียรติแก่ผู้อื่น ทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีกัน ส่วนคุณจะดื่มมากหรือน้อยก็ได้แล้วแต่คุณ
ข้อดีอย่างหนึ่งของงานเลี้ยงแบบนี้คือ คุณสามารถเมาได้และสิ่งที่คุณพูดหรือทำจะไม่ถือเป็นจริงเป็นจังนัก ทำให้บางครั้งคนที่เข้าร่วมงานมีการแสดงอารมณ์ความรู้สึกต่อคนที่เป็น ผู้ใหญ่กว่าอย่างตรงไปตรงมาต่อกันได้ โดยปกติแล้วคนญี่ปุ่นมักจะดื่มสาเก (sake) หรือโชชู (shōchū) ร่วม กับเหล้าหรือเบียร์ด้วย ซึ่งคุณอาจจะไม่ทำตามก็ได้ เพียงแต่เขาจะมองว่าคุณแปลกก็เท่านั้น เมื่องานเลี้ยงจะเลิก ทุกคนจะยืนขึ้นแล้วปรบมือพร้อมๆกัน การปรบมือมี 2 แบบคือ อิปปอนจิเมะ และซันบอนจิเมะ อิปปอนจิเมะคือ การปรบมือเป็นชุดๆ โดยการปรบมือ 3 ครั้งติดต่อกัน 3 ชุด บวกอีก 1 ครั้ง รวมทั้งหมดเป็น 10 ครั้ง ส่วนซันบอนจิเมะคือการปรบมือแบบอิปปอนจิเมะ 3 ครั้งติดต่อกัน หลังจากเลิกจากงานเลี้ยงแรกแล้วอาจจะมีการชักชวนกันไปดื่มต่อ ภาษาญี่ปุ่นเรียกงานเลี้ยงที่สองนี้ว่า “นิจิไก (nijikai)” ซึ่งจะเป็นแบบสบายๆ ไม่ต้องระวังมากนักเหมือนงานเลี้ยงตอนแรกเพราะส่วนใหญ่จะมีเฉพาะคนกันเอง ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าอย่างมาก จึงเกิดมีการเลี้ยงสังสรรค์ออนไลน์ด้วยซึ่งเป็นที่นิยมของกลุ่มวัยรุ่น ทำให้คุณไม่ต้องระวังกับมารยาทต่างๆ ที่จำเป็นเมื่อร่วมงานเลี้ยงตามปกติ คุณเพียงแค่นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ มีกล้อง แล้วก็ออนไลน์กับกลุ่มก็เท่านั้น วิถีชีวิตสังคมต่างๆ ก็เปลี่ยนแปลงกันไปตามยุคสมัยนะครับ
ข้อมูลจาก wikipedia.org |
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|