ไจก้ามอบอุปกรณ์ป้องกันโรคไข้เลือดออก ที่อาจเกิดการแพร่ระบาดหลังน้ำลดให้ไทย มูลค่ากว่า 2.5 ล้าน สธ.เฝ้าระวัง 8 โรคหลัก รวมทั้งเร่งปรับปรุงสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และกำจัดสัตว์และแมลงที่เป็นพาหะนำโรค... นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีส่งมอบวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข จากสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศของรัฐบาลญี่ปุ่นJapan International Cooperation Agency) หรือไจก้า (JICA) โดย ฯพณฯ นายเซอิจิ โคจิมะ (H.E. Mr.Seiji Kojima) เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันโรคไข้เลือดออก ที่อาจเกิดการแพร่ระบาดหลังน้ำลด หากไม่มีการป้องกันควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ ว่า วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ไจก้ามอบให้กระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ รวมทั้งหมด 5 รายการ รวมมูลค่าทั้งสิ้น 2,692,000 บาท ประกอบด้วย 1.เครื่องพ่นสารเคมียูแอลวี (ULV) ชนิดสะพายหลัง ใช้มือโยก จำนวน 20 เครื่อง 2.เครื่องพ่นหมอกควันทีเอฟ (TF) 35 จำนวน 10 เครื่อง 3.ทรายกำจัดลูกน้ำยุงลาย 5,000 กิโลกรัม 4.น้ำยาฉีดพ่นยุงซูมิไธออน 120 ลิตร และ 5.มุ้งกันยุง จำนวน 1,000 หลัง โดยกระทรวงสาธารณสุขจะนำเครื่องพ่นยูแอลวี และเครื่องพ่นหมอกควันมอบให้กับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่อยู่ในภูมิภาค 12 เขต รวมทั้งกทม. และสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง และจะมอบเครื่องพ่นหมอกควันมอบให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่จังหวัดชลบุรี ขอนแก่น นครสวรรค์ เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช สงขลา กทม.และสำนักงานโรคติดต่อนำโดยแมลง ส่วนทรายกำจัดลูกน้ำยุงลาย จะแจกจ่ายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร 4,000 กิโลกรัม จังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดนครปฐม 600 กิโลกรัม ส่วนที่เหลือจะมอบให้กรมควบคุมโรค เพื่อใช้ในการกำจัดยุงและลูกน้ำยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกต่อไป นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลไทย มีความสัมพันธ์ทั้งในด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านงานวิจัย และความร่วมมือทางเศรษฐกิจมายาวนาน เครื่องมือและวัสดุที่ไจก้ามอบให้กระทรวงสาธารณสุขไทยครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกหลังน้ำลดได้ดียิ่งขึ้น สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยครั้งนี้ มีจังหวัดที่ถูกน้ำท่วม 65 จังหวัด พื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมส่วนใหญ่ระดับน้ำลดลงสู่ภาวะปกติเข้าสู่ระยะพื้นฟู เหลืออีก 8 จังหวัดที่ยังมีน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร และกทม. กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ทุกจังหวัดที่ประสบภัยเพิ่มความเข้มข้นการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคหลังน้ำลด 8 โรค ได้แก่ ตาแดง เลปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู ไข้ไม่ทราบสาเหตุ ไข้เลือดออก อุจจาระร่วง โรคมือเท้าปาก ไข้หวัดใหญ่ และปอดบวม รวมทั้งเร่งปรับปรุงสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และกำจัดสัตว์และแมลงที่เป็นพาหะนำโรค เช่นหนู แมลงวัน และยุง ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวด้วยว่า ขณะนี้สามารถป้องกันควบคุมโรคได้เป็นอย่างดี พบผู้ป่วยประปราย ไม่มีการระบาดของโรคที่แตกต่างจากภาวะปกติแต่อย่างใด โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้รายงานผลการเฝ้าระวังโรคที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษในสถานการณ์น้ำท่วมใน จังหวัดที่ประสบอุทกภัย 33 จังหวัด ระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน - 6 ธ้นวาคม 2554 พบผู้ป่วยตาแดง 363 ราย โรคฉี่หนู 5ราย ไข้ไม่ทราบสาเหตุ 651 ราย ไข้เลือดออก 87 ราย อุจจาระร่วง 5,266 ราย โรคมือเท้าปาก 33ราย ไข้หวัดใหญ่ 57ราย และปอดบวม 456 ราย แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยลดลงเรื่อยๆ.
ข้อมูลจาก ไทยรัฐ ออนไลน์ |
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|