เอเจนซี - หนังสือพิมพ์นิกเกอิเผย ญี่ปุ่นอยู่ในระหว่างการเจรจาขั้นสุดท้ายกับวอชิงตัน เกี่ยวกับข้อตกลงลดการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน ซึ่งอาจเป็นจำนวนมากกว่า 20% ต่อปี ขณะที่โตเกียวต้องการหลีกเลี่ยงมาตรการแซงก์ชันของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ จะบรรลุข้อตกลงขั้นพื้นฐาน ภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยละเว้นโทษให้กับธนาคารสำคัญ 3 แห่งของญี่ปุ่น ซึ่งดูแลการจ่ายเงินให้กับอิหร่านในปัจจุบันไว้ก่อน รายงานข่าวระบุ โดยไม่ได้อ้างอิงแหล่งข่าวใด การเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรเป็นสิ่งจำเป็นในการปกป้องภาคการเงินของ ญี่ปุ่นที่ดำเนินการในต่างประเทศ ทว่า การลดปริมาณน้ำมันนำเข้านั้นอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศได้ รัฐมนตรีการค้าและต่างประเทศแดนปลาดิบ เผยในวันอังคาร (21) ที่ผ่านมาว่า โตเกียวใกล้บรรลุข้อตกลงกับวอชิงตันแล้ว แต่ไม่ได้ชี้ชัดถึงปริมาณการนำเข้าน้ำมันของอิหร่านที่จะตัดลดลง ซึ่งหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันได้ที่ 11% ดังนั้น การลดการนำเข้าน้ำมันถึง 20% นั้นเป็นจำนวนที่มากกว่าคาดการณ์ ขณะที่ญี่ปุ่นต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงนำเข้ามากขึ้น หลังมหาภัยพิบัติแผ่นดินไหว และสึนามิ ในปี 2011 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดวิกฤตนิวเคลียร์ จนต้องปิดโรงไฟฟ้าปรมาณูส่วนใหญ่ไป ด้านเจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นปฏิเสธที่จะยืนยันว่า โตเกียววางเป้าหมายในการลดนำเข้าเป็นเปอร์เซ็นต์ชัดเจน ซึ่งอาจจะเกินกว่าค่าเฉลี่ย 11% ต่อปี ที่โตเกียวตั้งไว้ตั้งแต่ปี 2007-2011 ญี่ปุ่นนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน 313,480 บาร์เรลต่อวัน ในปี 2011 หากบรรลุข้อตกลงลดการนำเข้ามากกว่า 20% แล้ว ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านก็จะตกลงมากกว่า 62,700 บาร์เรลต่อวัน เหลือไม่ถึง 251,000 บาร์เรลต่อวัน ในปีนี้ วอชิงตันพยายามผลักดันการแซงก์ชัน เนื่องจากเกรงว่าอิหร่านจะใช้โครงการนิวเคลียร์พัฒนาอาวุธปรมาณู ขณะที่สหภาพยุโรปวางข้อห้ามนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านแล้ว โดยเริ่มตั้งแต่ 1 กรกฎาคม ส่วนอิหร่านสวนกลับไปโดยสั่งระงับการขายน้ำมันให้กับอังกฤษ และฝรั่งเศสในวันอาทิตย์ (19) ที่ผ่านมา เป็นความเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ความไม่พอใจของเตหะรานต่อชาติตะวันตก ทั้งนี้ จีน อินเดีย และญี่ปุ่นเป็นลูกค้ารายใหญ่ของอิหร่าน โดยซื้อน้ำมันจากอิหร่านเมื่อรวมกันแล้วคิดเป็น 45% ของการส่งออกทีเดียว และทั้ง 3 ประเทศต่างก็วางแผนลดการนำเข้าอย่าง 10%
ข้อมูลจาก ผู้จัดการ ออนไลน์
|
Tags: ข่าวญี่ปุ่น | ข้อตกลง | นำเข้าน้ำมัน | ลดการนำเข้า | สหรัฐ