-
Section:
News -
-
ข่าว hot ญี่ปุ่น
“หมอมงคล” เรียกร้องรัฐบาลจริงใจแก้ปัญหาแร่ใยหิน อย่าเห็นแก่ประโยชน์เล็กน้อย แลกการนำเข้า นักวิชาการญี่ปุ่น ชี้ ไทยนำเข้าสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก จี้เลิกนำเข้า-ยุติการใช้ทันที ไม่คุ้มกับผลเสียทางสุขภาพ เครือข่ายผู้บริโภค เตรียมตั้งเครือข่ายรณรงค์เลิกแร่ใยหินระดับชาติ เสนอหยุดใช้ภายใน 3 เดือน สภาที่ปรึกษาฯ เตรียมส่ง จม.ทวงถาม ข้องใจ ก.อุตฯ ไม่ควบคุมปล่อยให้มีการทุ่มตลาด วันนี้ (17 ก.พ.) ที่โรงแรมเอเชีย ราชเทวี นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในพิธีเปิดการประชุมพัฒนานโยบายขจัดโรคจากแร่ใยหิน จัดโดย แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีงานวิจัยถึงอันตรายของแร่ใยหิน (แอสเบสตอส) อย่างชัดเจน ว่า มีส่วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอดและมะเร็งปอดได้ ส่งผลให้หลายประเทศยกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน ซึ่งประเทศไทยเคยมีมติ ครม.ประกาศลดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินภายในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2549 รวมทั้งมีมติ ครม.อย่างชัดเจนในปี 2554 เพื่อเลิกใช้ผลิตภัณฑ์จากแร่ใยหิน แต่ในปี 2554 กลับพบปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินมากขึ้น เป็นเรื่องที่สวนทางกับมติ ครม.อย่างชัดเจน การแก้ปัญหาต้องอาศัยความจริงใจในการแก้ปัญหาจากรัฐบาล และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อทำให้เกิดผลตามมติ ครม.ขึ้น อยากให้รัฐบาล และกระทรวงอุตสาหกรรมคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก ไม่ควรเห็นแก่ผลประโยชน์เล็กน้อย ที่ได้รับจากประเทศผู้ผลิตและส่งออกแร่ใยหิน ซึ่งไม่คุ้มกับการสูญเสียสุขภาพของคนไทยในระยะยาว นายซูจิโอ ฟูรูยะ เครือข่ายยกเลิกการใช้แร่ใยหินเอเชีย ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกและประเทศไทย 2555-2559 ระบุว่า ประเทศไทยนำเข้าแร่ใยหินมากเป็นอันดับสี่ของโลก ซึ่งจะเป็นปัญหาที่สำคัญด้านสุขภาพและมีค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาลในระยะอันใกล้ ตามข้อแนะนำขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และองค์การอนามัยโลก โดยปริมาณนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าจะมีมาตรการจัดการปัญหาก็ตาม จะทำให้เกิดผลเสียทางสุขภาพกับผู้สัมผัสแร่ใยหินและเป็นอันตราย ประเทศญี่ปุ่น มีประสบการณ์ที่พบผู้ป่วยมะเร็งปอด มะเร็งเยื้อหุ้มปอดที่สัมผัสแร่ใยหินจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องยกเลิกการนำเข้าโดยเร่งด่วนที่สุด และห้ามผลิตสินค้าที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน หากยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินล่าช้าจะส่งผลให้มีผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดและ มะเร็งปอดเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า องค์กรเพื่อผู้บริโภคได้หารือร่วมกับภาคประชาสังคม และนักวิชาการ โดยมีมติว่า จะจัดตั้งเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินระดับชาติ โดยมีเจตนารมณ์ดังนี้ 1.สนับสนุนคำประกาศ การห้ามใช้แร่ใยหินและการกำจัดโรคที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน 2549 (The Bangkok Declaration on Elimination of Asbestos and Asbestos-related Diseases 2006) 2.สนับสนุนมติสมัชชา สุขภาพแห่งชาติ “มติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” และ 3.สนับสนุนมติ ครม.เพื่อยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน “เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินระดับ ชาติ จะรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนการยกเลิกแร่ใยหิน เพื่อยื่นเรียกร้องให้รัฐบาล ยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน ภายใน 3 เดือน นอกจากนี้ จะเร่งรณรงค์ให้ประชาชนไม่ใช้ ไม่ซื้อ ผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินและดูแลการรื้อถอนอย่างปลอดภัย รวมทั้งจะมีการผลักดันให้มีมาตรการชดเชย เยียวยาผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากแร่ใยหินด้วย” น.ส.บุญยืน กล่าว นายอนันต์ เมืองมูลไชย สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ขอชะลอการยกเลิกการใช้แร่ใยหินตามมติ ครม.โดยอ้างว่าเพื่อศึกษาถึงทางเลือกในการหาสารทดแทน แต่กลับพบว่าการนำเข้าแร่ใยหินในช่วงที่กระทรวงอุตสาหกรรมขอศึกษานั้น มีปริมาณเพิ่มขึ้น และราคาถูกลง ซึ่งเป็นการทุ่มตลาดมายังประเทศไทย โดยคณะกรรมการคุณภาพชีวิต สป.ได้ประชุมร่วมกัน และมีมติว่า ในสัปดาห์หน้าจะส่งหนังสือทวงถามประเด็นดังกล่าวไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขอเหตุผลในการไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.ซึ่งแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะมติดังกล่าวมีผลบังคับใช้ไปแล้ว “กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่าเหตุใด ช่วงเวลาที่ขอเวลาศึกษาจึงเกิดการทุ่มตลาดขึ้น และผลการศึกษาถึงสารทดแทนในประเทศต่างๆ ที่มีการเลิกใช้แร่ใยหินไปแล้ว ก็มีอยู่ชัดเจน เหตุใดจึงใช้เวลาศึกษาเป็นเวลานาน ซึ่งสภาที่ปรึกษาฯ สามารถเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูลในเรื่องต่างๆ ทั้งนี้หากไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาล ก็จะเกิดคำถามถึงความจริงใจของรัฐในเรื่องนี้ ซึ่งไม่อยากคิดว่าเหตุการณ์การทุ่มตลาดครั้งนี้ เกิดจากผลประโยชน์ทับซ้อนใดหรือไม่” นายอนันต์ กล่าว ทั้งนี้ จากข้อมูลการนำเข้าแร่ใยหิน ปี 2554 มีปริมาณการนำเข้าทั้งสิ้น 81,411 ตัน มากกว่า ปี 2553 79,250 ตัน และราคาแร่ใยหินลดลง จากตันละ 14,150 บาท ในปี 2553 เหลือเฉลี่ยตันละ 13,660 บาท
ข้อมูลจาก ผู้จัดการ ออนไลน์
|
Tags: ติดอันดับสูงสุด | นักวิชาการญี่ปุ่น | ประเทศไทย | แร่น้ำเข้า | แร่ใยหิน
แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2012 เวลา 20:54 น.