เอเจนซีส์ - ญี่ปุ่นในปี 2011 ประสบการขาดดุลการค้าครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี ก่อให้เกิดคำถามว่า ชาติเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลกแห่งนี้จะสามารถหาเงินออมภายในประเทศมาสะสางหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาลไป ได้อีกนานเพียงใด โดยไม่ต้องพึ่งพานักลงทุนต่างชาติซึ่งเอาแน่เอานอนไม่ได้ ผลพวงจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อเดือนมีนาคมปี 2011 ทำให้ญี่ปุ่นมีค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และการแข็งค่าของเงินเยนซึ่งทำสถิติสูงสุดเมื่อเทียบดอลลาร์ซ้ำแล้วซ้ำอีกใน ปีที่แล้ว ยังช่วยกันซ้ำเติมการส่งออก กระทรวงการคลังญี่ปุ่นรายงานเมื่อวันพุธ (25) ว่าประเทศขาดดุลการค้า 2.49 ล้านล้านเยน (32,000 ล้านดอลลาร์) ในปี 2011 ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกนับจากปี 1980 โดยที่ยอดส่งออกรวมหดตัว 2.7% ขณะที่ยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 12.0% สะท้อนรายได้ที่ลดลงจากสินค้าและบริการ ขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มการนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซตลอดจนน้ำมัน เชื้อเพลิง ภายหลังแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิทำให้เกิดวิกฤตนิวเคลียร์ และเหลือโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์เพียง 4 โรงจาก 54 โรงทั่วประเทศที่ยังเดินเครื่องอยู่ในเวลานี้ ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 21.3% และนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวเพิ่มขึ้น 37.5% และ 39.5% สำหรับผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ขณะที่ส่งออกรถยนต์ลดลง 10.6% และอิเล็กทรอนิกส์ลดลง 14.2% สัญญาณที่บ่งชี้ผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวคือ การส่งออกของญี่ปุ่นในเดือนธันวาคมลดลง 8.0% จากช่วงเดียวกันปี 2010 ส่วนหนึ่งเนื่องจากญี่ปุ่นส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์น้อยลง แต่ในเดือนเดียวกันนั้น ญี่ปุ่นนำเข้าเพิ่มขึ้น 1.0% ส่งผลให้ดุลการค้ากลายเป็นติดลบ 205,100 ล้านเยน นับเป็นการขาดดุลต่อเนื่องเดือนที่ 3 วันอังคารที่ผ่านมา (24) มาซาเอกิ ชิรากาวะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ออกมาคาดการณ์ว่า ญี่ปุ่นไม่น่าจะขาดดุลการค้าเรื้อรัง และไม่คิดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดจะติดลบในอนาคตอันใกล้อย่างที่นักวิเคราะห์บางคนคาด ทั้งนี้ขณะที่ดุลการค้าเป็นการเปรียบเทียบการส่งออกและการนำเข้าของ ประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดจะครอบคลุมกว้างยิ่งขึ้น โดยเปรียบเทียบการส่งออกและบริการ (เช่น การท่องเที่ยว, การขนส่ง, กำไรที่ส่งกลับจากการไปลงทุนในต่างประเทศ, เงินที่ส่งกลับของคนซึ่งทำงานในต่างประเทศ) กับการนำเข้า และบริการจากต่างประเทศ แม้จะมีคำปลอบใจจากผู้ว่าการบีโอเจ ทว่ามีความวิตกกันอยู่ทั่วไปว่า ยุคแห่งการเกินดุลการค้าจำนวนมหาศาลของแดนอาทิตย์อุทัยกำลังจะถึงกาลอวสาน จากการพึ่งพิงการนำเข้าเชื้อเพลิงมากขึ้น และการที่ผู้ผลิตโยกย้ายออกไปต่างแดนเพื่อรับมือต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและการ แข็งค่าของเยน อันเป็นแนวโน้มที่อาจทำให้อัตราแลกเปลี่ยนของญี่ปุ่นอ่อนแอลงในระยะยาว ยิ่งกว่านั้น การที่ประชากรสูงวัยของแดนอาทิตย์อุทัยเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ยังหมายความว่า เงินออมของผู้สูงวัยจำนวนมากขึ้นใกล้ร่อยหรอ การขาดดุลการค้า ซึ่งอาจลุกลามกลายเป็นการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดด้วย ถือเป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากเท่ากับว่า ญี่ปุ่นจะไม่สามารถจ่ายหนี้สาธารณะที่มีมูลค่าเท่ากับสองเท่าของเศรษฐกิจ ขนาด 5 ล้านล้านดอลลาร์ของประเทศได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงเงินทุนต่างชาติ แม้ขณะนี้มีนักวิเคราะห์เพียงไม่รายที่คาดว่า ญี่ปุ่นจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเร็วๆ นี้ ทว่า ตัวเลขดุลการค้าล่าสุดตอกย้ำให้เห็นแนวโน้มอันตรายที่ว่า ญี่ปุ่นกำลังสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดโลก ปัญหาจากสังคมชราภาพ รวมทั้งปัญหาเฉพาะหน้าในการพึ่งพิงการนำเข้าเชื้อเพลิงมากขึ้น “เวลาที่เงินออมของญี่ปุ่นจะหมดลงกำลังใกล้เข้ามาทุกที และญี่ปุ่นจะต้องบอกลาสถานะประเทศเจ้าหนี้สุทธิ “หมายความว่า ญี่ปุ่นจะต้องพึ่งพิงเงินออมของโลกเพื่ออุดหนุนการขาดดุลของตนเอง นั่นจะทำให้เงินเยนอาจอ่อนลง หรืออัตราดอกเบี้ยขยับขึ้น” เจสเปอร์ โคลล์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ของเจพีมอร์แกนในญี่ปุ่น วิจารณ์
ข้อมูลจาก ผู้จัดการ ออนไลน์
|
Tags: การเงินญี่ปุ่น | ข่าวญี่ปุ่น | ภาวะขาดดุล | เศรษฐกิจญี่ปุ่น