“อิตาดาคิมัส” (Itadakimasu) คือคำกล่าวก่อนการรับประทานอาหารของชาวญี่ปุ่น เพื่อแสดงถึงการเคารพและขอบคุณต่อพืชพรรณธัญญาหารและเกษตรกรผู้เสียสละแรง กาย เพื่อให้ได้มาซึ่งอาหารในมื้อต่างๆ แต่ความหมายของ “อิตาดาคิมัส” ที่มีนัยลึกซึ้งกว่านั้น คือการน้อมรับและระลึกถึงสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้กับมวลมนุษย์นั่นเอง ญี่ปุ่นนอกจากจะมีชื่อเสียงในเรื่องเทคโนโลยีอันทันสมัยแล้ว ประเทศนี้ยังมีชื่อเสียงในเรื่องวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอีกด้วย ซึ่งมีจุดเด่นคือแฝงด้วยปรัชญา มีความละเมียดละไม และยังคงปรากฏให้เห็นได้ในชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่น หนึ่งในวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่มีความโดดเด่นและมีชื่อเสียงในระดับโลกนั่นก็คือ วัฒนธรรมอาหารการกิน |
ชาวญี่ปุ่นมีพื้นฐานความเชื่อมาจากการเคารพธรรมชาติ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากการนับถือศาสนาพุทธนิกายเซนที่เน้นความเรียบง่าย ลัทธิชินโตที่เน้นการรับประทานมังสวิรัติ และการนับถือเทพเจ้าขุนเขาและสายน้ำ ดังนั้นความเชื่อเหล่านี้ได้สะท้อนผ่านทางอาหารญี่ปุ่นที่มีความเรียบง่าย ไม่เน้นการปรุงแต่งรสชาติ แต่เน้นคงรสชาติที่มาจากธรรมชาติไว้ให้มากที่สุด ตัวอย่างอาหารที่เรารู้จักกันดี คือซูชิและซาชิมิ หรือปลาดิบนั่นเอง
ญี่ปุ่นคือประเทศที่บริโภคปลามากที่สุดในโลก เพราะมีภูมิประเทศเป็นเกาะล้อมรอบไปด้วยทะเลและมีพื้นที่สำหรับการทำปศุ สัตว์จำกัด ดังนั้นทะเลจึงเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญมาตั้งแต่โบราณโดยเฉพาะอย่างยิ่งปลา ทะเล ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของอาหารญี่ปุ่นที่สามารถพบเห็นได้เป็นประจำบนโต๊ะ อาหารเกือบทุกมื้อ ว่ากันว่าตำราญี่ปุ่นว่าด้วยการจับ การเลือก และการปรุงปลามีมากกว่าร้อยเล่ม แต่เหนือสิ่งอื่นใดแล้วชาวญี่ปุ่นเชื่อว่า หัวใจสำคัญที่ทำให้ปลามีรสชาติดีที่สุด คือปลาที่มีความสด สะอาด และจับในฤดูกาลที่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฤดูหนาว เชื่อกันว่าปลามีรสชาติดีที่สุด เพราะน้ำทะเลมีอุณหภูมิเย็น ปลาจึงสร้างชั้นไขมันบางๆ เพื่อสร้างความอบอุ่น ดังนั้นเนื้อปลาในช่วงนี้จะมีรสชาติหวานมันเป็นพิเศษ นอกจากนี้ทะเลรอบๆ ญี่ปุ่นยังมีความพิเศษกว่าทะเลอื่นๆ คือเป็นจุดที่กระแสน้ำอุ่นและกระแสน้ำเย็นไหลมาบรรจบกันถึง 4 สาย จึงมีความอุดมสมบูรณ์จากแพลงตอนจำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของฝูงปลานานับชนิด และอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ทะเลแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ คือการที่ญี่ปุ่นมีฤดูกาลถึง 4 ฤดูใน 1 ปี คือมีฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง ฤดูหนาว และฤดูใบไม้ผลิ ส่งผลให้น่านน้ำญี่ปุ่นเป็นเส้นทางอพยพที่สำคัญของฝูงปลาในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งจะอพยพไม่ซ้ำกันในแต่ละฤดูกาล จึงเกิดเป็นวัฒนธรรมการกินปลาตามฤดูกาล ซึ่งชาวญี่ปุ่นปฏิบัติสืบทอดกันมากว่า 3,000 ปี |
World Health Organization (WHO) หรือองค์การอนามัยโลกระบุว่า ญี่ปุ่นคือประเทศที่ประชากรมีสุขภาพดีและมีอายุขัยเฉลี่ยสูงที่สุดในโลก เพราะชาวญี่ปุ่นบริโภคปลาเป็นอาหารหลัก ซึ่งปลามีโปรตีนสูงที่สุดในบรรดาเนื้อสัตว์ที่มนุษย์บริโภค และไม่มีผลข้างเคียงต่อร่างกาย ดังนั้นปลาจึงเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีการซื้อขายกันในมูลค่าสูงที่สุดใน ญี่ปุ่น ซึ่งสถานที่สำคัญในการซื้อขายปลาคือตลาดซึคิจิ (Tsukiji) ตั้งอยู่ใจกลางกรุงโตเกียว ที่นี่เป็นตลาดปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เพราะเป็นแหล่งค้าส่งอาหารทะเลถึงกว่า 7 แสนตันต่อปี มีสัตว์น้ำให้เลือกกว่า 400 ชนิด และมีมูลค่าในการซื้อขายรวมกว่า 5,500 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาทูน่า คือปลาที่มีการซื้อขายมูลค่าสูงที่สุด ดังเช่นเมื่อต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ร้านอาหารแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นทุ่มเงินกว่า 56 ล้านเยน หรือกว่า 23 ล้านบาท เพื่อซื้อปลาทูน่าครีบน้ำเงินตัวหนึ่งด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องการให้ลูกค้าสัมผัสกับสุดยอดรสชาติปลาทูน่าที่มีคุณภาพดีที่สุด ว่ากันว่าปลาทูน่าที่นำมาประมูลที่นี่ บางตัวมาไกลจากทะเลแปซิฟิกทางตอนเหนือสหรัฐและรีบจัดส่งมาทางเครื่องบิน เพื่อนำมาประมูลที่นี่ เพราะปลายิ่งสดก็ยิ่งได้ราคาสูง ซึ่งตลาดปลาซึคิจิจะเริ่มคึกคักตั้งแต่ช่วงเวลาตีสามเป็นต้นไป เพราะเป็นเวลาที่ร้านปลาเริ่มเปิดและเริ่มจัดวางสินค้า และในส่วนบริเวณที่มีการประมูลปลาก็จะเริ่มนำปลามาจัดวางเพื่อให้ผู้ประมูล สำรวจตรวจสอบคุณภาพปลาก่อนการประมูล ซึ่งจะแบ่งปลาออกเป็น 2 ชนิด คือปลาสดและปลาแช่แข็ง จนกระทั่งถึงเวลาประมาณตีห้าการประมูลจึงเริ่มขึ้น และหลังจากประมูลแล้วปลาที่ชนะการประมูลจะถูกนำไปที่ร้านเพื่อชำแหละทันที เพื่อให้ได้ความสดและมีคุณภาพมากที่สุด ซึ่งทุกๆ วันจะมีเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพ หากพบปลาที่คุณภาพไม่ผ่านเกณฑ์ ปลาจะถูกตีกลับและไม่อนุญาตให้จำหน่าย |
ปลา คือสรรพชีวิตที่หล่อเลี้ยงญี่ปุ่นมาช้านาน และชาวญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่ามีความเคารพในธรรมชาติและพิถีพิถันในการรับประทาน จึงทำให้ปลาไม่ได้เป็นเพียงวัตถุดิบหนึ่งในการทำอาหาร แต่การรับประทานปลาของชาวญี่ปุ่นนั้น คือสิ่งที่สะท้อนถึงจิตวิญญาณของความเป็นญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือการให้ความสำคัญกับรายละเอียดแม้เพียงเล็กน้อย เช่น ฤดูกาลในการจับปลา วิธีในการปรุง และการรับประทานปลาดิบเพื่อลิ้มรสจากธรรมชาติ ซึ่งหากพินิจพิเคราะห์แล้ว จะพบว่าการรับประทานปลาสำหรับชาวญี่ปุ่นนั้น เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง สอดคล้องกับความเชื่อของชาวญี่ปุ่นที่ว่า “การกิน คือศิลปะในการใช้ชีวิต”
ข้อมูลจาก โพสต์ทูเดย์ |
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|