ASTVผู้จัดการรายวัน-“304 อินดัสเตรียลปาร์ค” ตั้งเป้าขายที่ดินปีนี้ 1.8 พันไร่ คิดเป็นมูลค่ากว่า 3.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว เหตุพื้นที่ปลอดน้ำท่วม นักลงทุนแห่ซื้อที่ดินลงทุน ประเดิมต้นปีเซ็นสัญญาขายที่ดินให้นักลงทุนญี่ปุ่น 8 ราย จำนวน 300 ไร่ เลขาฯ บีโอไอ เผยราคาที่ดินในนิคมฯ ตะวันออกดีดตัวขึ้น เหตุไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ วานนี้ (10 ม.ค.) บริษัท 304 อินดัสเตรียลปาร์ค จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการสวนอุตสาหกรรม จ.ปราจีนบุรี ร่วมลงนามสัญญาขายที่ดินกับนักลงทุนญี่ปุ่นจำนวน 8 ราย คิดเป็นพื้นที่รวมประมาณ 300 ไร่ ภายในงานบีโอไอ แฟร์ 2011 คิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 5 พันล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 1 หมื่นอัตรา นายวัชเรนทร์ นิสากรเสน ประธานคณะกรรมการ บริษัท 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด กล่าวว่า ในปีนี้ตั้งเป้าหมายการขายที่ดิน 304 อินดัสเตรียลปาร์คไว้ 1,800 ไร่ คิดเป็นมูลค่าการขายกว่า 3,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 3 เท่าตัว เนื่องจากเชื่อมั่นว่าไทยยังเป็นประเทศที่น่าลงทุนในสายตาชาวต่างชาติ และบริษัทมีจุดเด่นที่สามารถตอบโจทย์ของนักลงทุนได้ครอบคลุมรอบด้าน อาทิ อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับสิทธประโยชน์สูงสุดจาก BOI, ปลอดภัยจากปัญหาน้ำท่วม เพราะอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 20 เมตร, อยู่ใกล้ท่าเรือ, สนามบิน และกรุงเทพฯ นอกจากนี้ ยังมีลูกค้าบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในปีที่ผ่านมา ที่มองหาแหล่งลงทุนแห่งใหม่ ก็ย้ายหรือขยายการลงทุนเพิ่มเติมมายัง 304 อินดัสเตรียลปาร์คด้วย เพราะปีที่ผ่านมา บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเหมือนนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ สำหรับการลงนามสัญญาซื้อขายที่ดิน 304 อินดัสเตรียลครั้งนี้ มีทั้งนักลงทุนใหม่และบริษัทที่ซื้อที่ดินเพื่อขยายกิจการเพิ่มเติม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตกลุ่มโลหะภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์และเครื่องถ่ายเอกสาร โดยสวนอุตสาหกรรม 304 มีพื้นที่โครงการรวมทั้งสิ้น 17,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่พัฒนาแล้ว 9,333 ไร่ และเป็นพื้นที่ที่กำลังพัฒนาอีก 7,667 ไร่ โดยพื้นที่ที่พัฒนาแล้วทั้งหมดมีการขายพื้นที่ออกไปแล้ว 5,774 ไร่ คิดเป็น 62% ของพื้นที่ที่พัฒนาแล้ว นางอรรชกา ศรีบุญเรือง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า การลงนามดังกล่าวช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อไทยในสายตานักลงทุนทั้งไทยและ ต่างประเทศ และยังกระตุ้นความเชื่อมั่นนักลงทุนให้มาลงทุนในไทยหลังจากไทยเพิ่งผ่านมหา อุทกภัยในปีที่แล้ว โดยยอมรับว่า ที่ดินในนิคมฯ ภาคตะวันออกมีการขายเพิ่มขึ้น หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ โดยราคาที่ดินในนิคมฯ ภาคตะวันออกเฉลี่ยไร่ละ 2-3 ล้านบาท โดยบางนิคมฯ ได้ปรับขึ้นราคาขายที่ดินบ้างแล้ว เพราะไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม รวมไปถึงที่ดินนอกนิคมฯ ในภาคตะวันออกด้วย ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่ามีนิคมฯ หลายแห่งขยายการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น
ทั้งนี้ ภาคตะวันออกมีฐานการผลิตในหลายอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นปิโตรเคมี เหล็กขั้นปลาย รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์
นายเคนจิ โคอิโตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม ทากะ พรีซิชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนผลิตเบรครถยนต์ กล่าวว่า ได้ตัดสินใจย้ายการลงทุนจากเดิมเช่าโรงงานผลิตชิ้นส่วนอยู่ในสวนอุตสาหกรรม โรจนะ ที่จ.พระนครศรีอยุธยา มาเป็นซื้อที่ดินและตั้งโรงงานใหม่ที่ 304 อินดัสเตรียลปาร์คแทน เนื่องจากโรงงานเดิมประสบปัญหาน้ำท่วมเสียหายหมด 36 ล้านบาท “เพิ่งย้ายการลงทุนจากญี่ปุ่นมาไทย โดยเช่าโรงงานในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ เพื่อผลิตชิ้นส่วนในการทำเบรครถยนต์ เดิมจะเริ่มผลิตได้เดือนต.ค.ที่ผ่านมา แต่ประสบปัญหาน้ำท่วมเสียก่อน ทำให้ตัดสินใจให้ย้ายการลงทุนไปที่ 304 อินดัสเตรียลปาร์ค โดยซื้อที่ดิน 11 ไร่ เพื่อตั้งโรงงานใหม่และรองรับการขยายการลงทุนในอนาคต คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนก.ย.-ต.ค.นี้“ โรงงานผลิตชิ้นส่วนดังกล่าวใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 700-800 ล้านบาท โดยเครื่องจักรบางส่วนที่ถูกน้ำท่วม นำมาปรับปรุงแก้ไขและบางส่วนก็ซื้อเครื่องจักรใหม่ แม้ว่าจะเสียหายจากน้ำท่วม แต่ก็ยังลงทุนในไทยต่อไป เนื่องจากต้องการลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นมาไทยและมองว่า ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ใหญ่ในภูมิภาคนี้
ทั้ง 8 บริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นที่ลงนามสัญญาซื้อขายที่ดิน 304 อินดัสเตรียลปาร์ค ประกอบด้วย บริษัท แคนนอน ปราจีนบุรี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท นิคโก้ แมชชีน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท นอร์ทแลนด์ จำกัด บริษัท ซันวา เมทอล (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท ซาโต เพรส โคเกียว (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท ไทย เคียววะ จีเอ็มบี จำกัด บริษัท สยาม ทากะ พรีซิชั่น จำกัด และบริษัท วาย-เทค จำกัด
ข้อมูลจาก ผู้จัดการ ออนไลน์
|
Tags: ข่าวญี่ปุ่น | จัดซื้อที่ดิน | ที่ดินโรงงาน | ที่ตั้งโรงงาน | บริษัทญี่ปุ่น | โรงงานญี่ปุ่น