มติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2554 ที่อนุมัติให้ยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปและชิ้นส่วนยานยนต์ รวมทั้งเครื่องจักร ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผลักดันเข้าสู่การประชุมครม.เป็นวาระจรเพื่อพิจารณาจรเรื่องที่ 5 หากย้อนกลับไปดูรายงานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ(กยอ.)ที่มี ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2554 และผลการเยือนประเทศญี่ปุ่น ที่นายกิตติรัตน์ ได้รายงานให้ที่ประชุมครม.รับทราบเมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา จะพบว่าการยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป และชิ้นส่วนยานยนต์ครั้งนี้ มีที่มาที่ไปไม่ธรรมดา เริ่มจาก 14 พ.ย. 2554 ดร.วีรพงษ์ หารือกับภาคเอแกชนญี่ปุ่น นำโดยนาย Setsuo luchi ประธานเจโทรประเทศไทย และนาย Kyoichi Tanada กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โต้โยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เจโทรและหอการค้าญี่ปุ่น เสนอมาตรการเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในประเทศไทย 5 ประเด็น คือ 1.มาตรการระยะสั้นเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ การให้วีซ่าและใบอนุญาตทำงานแก่ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ การเร่งรัดขั้นตอนและยกเว้นภาษีวัตถุดิบและอุปกรณ์นำเข้าในการทำความสะอาด ฟื้นฟูโรงงานอุตสาหกรรม และติดตั้งเครื่องจักร การเร่งรัดการซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภคในโรงงาน การจัดการขยะและของเสีย รวมถึงการเสริมความแข็งแกร่งของระบบป้องกันน้ำท่วมในเขตนิคมอุตสาหกรรม และการอำนวยความสะดวกในขั้นตอนและสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน 2.มาตรการฟื้นฟูความเชื่อมั่นจากนานาชาติรวมทั้งบริษัทประกันภัย ได้แก่การสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมในเขตอุตสาหกรรม ประกาศแนวทางการบริหารจัดการน้ำในอนาคต และแสดงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการป้องกันน้ำท่วมและภัยพิบัติในอนาคต
3.มาตรการสร้างโอกาสการจ้างงานสำหรับแรงงานไทย ได้แก่ การสนับสนุนทางการเงิน โดยเฉพาะแก่เอสเอ็มอี เพื่อให้ยังคงการจ้างพนักงานไว้ การให้เงินกู้ระยะสั้นแก่เอสเอ็มอี และบริษัทต่างประเทศในเครือ และการลดขั้นตอนในการนำวิศวกรหรือแรงงานไทยบางส่วนไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น หรือประเทศอื่นชั่วคราว 4.มาตการฟื้นฟูความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม ได้แก่ ส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยในช่องทางต่างๆ เช่นงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ การพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์สำหรับอุตสาหกรรม การส่งเสริมและเชิญชวนสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคต่างๆให้มาลงทุนในไทย และการรณรงค์การมาท่องเที่ยวในประเทศไทย 5.การขยายตลาดสำหรับอุตสาหกรรมไทยโดยส่งเสริมการเชื่อมโยงในภูมิภาค ได้แก่ การส่งเสริมเอฟทีเอ และสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และส่งเสริมการลงทุนในประเทศต่างๆในภูมิภาค รวมทั้งญี่ปุ่น ขณะที่โตโยต้า ได้ขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการประกอบรถยนต์ใน 3 ประเด็น ดังนี้ 1.พิจารณาการสนับสนุนให้ครอบคลุมบริษัทเอสเอ็มอี ญี่ปุ่น ที่มาลงทุนผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทย 2.รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมากต่อการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นในไทย 3.ส่งเสริมเรื่องการพัฒนาแรงงานสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากโตโยต้า มีแผนที่จะลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีหน้า จึงต้องแรงงานจำนวนมาก 15 พ.ย. 2554 นายวีระพงษ์ นำผลการหารือร่วมกับนักลงทุนญีปุ่นเสนอให้ที่ประชุมกยอ.นัดแรกรับทราบ พร้อมกับมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาข้อเสนอของนักลงทุนญี่ปุ่น 18 พ.ย. 2554 กระทรวงการคลัง ทำหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค.1005/ล1830 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่องมาตรการลดภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยและฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม เพื่อเสนอเรื่องให้ครม.ยกเว้นอากรขาเข้ารถยนต์สำเร็จรูปและชินส่วนรถยนต์ที่ นำเข้ามาประกอบรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศในจำนวนและอัตราที่เหมาะสมให้แก่ ผู้ประกอบการรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ที่ประสบความเสียหายจากอุทกภัย กระทรวงการคลังอ้างว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นไปตามมติครม.เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2554 ที่มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณามาตรการผลกระทบจากอุกทกภัยและฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ นอกจากนั้นกระทรวงการคลังยัง อ้างว่า ได้รับหนังสือจากบริษัท เอเชี่ยนฮอนด้ามอเตอร์ จำกัด ขอให้ยกเว้นอากรขาเข้ารถยนต์สำเร็จรูปแบบและรุ่นเดียวกับที่บริษัทสามารถ ผลิตได้ในประเทศก่อนโรงงานประสบอุทกภัย เพื่อทดแทนการผลิตในประเทศเป็นการชั่วคราวจนกว่าโรงงานจะเริ่มดำเนินการได้ โดยรถยนต์สำเร็จรูปที่นำเข้าดังกล่าวให้ได้รับสิทธิเหมือนรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ 25 พ.ย. 2554 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่งข้อเสนองของกระทรวงการคลังให้ นายกิตติรัตน์ พิจารณาเพื่อเสนอต่อที่ประชุมครม. โดยมีความเห็นประกอบการพิจารณาว่า มาตรการ “ภาษีศุลกากรเพื่อบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยและฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม” ที่กระทรวงการคลัง เสนอ. เป็นมาตรการใหมยังไม่เคยเสนอให้ครมงพิจารณา มีเพียงการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรเท่านั้นที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนการ ให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เสนอให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และความเป็นอยู่ของประชาชน(กศอ.) ที่มีนายกิตติรัตน์ เป็นประธานพิจารณาก่อน 27 - 28 พ.ย. 2554 ดร.วีรพงษ์ นายกิตติรัตน์ พร้อมคณะเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น โดยได้เข้าพบบุคคลสำคัญระดับสูงของประเทศญี่ปุ่น อาทิ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า อุตสาหกรรม รัฐมนตรีกระทรวงการบริการการเงิน และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และ สมาพันธ์องค์กรเศรษฐกิจแห่งญี่ปุ่น(Keidanren)รัฐบาลญี่ปุ่นได้ขอให้ไทย เร่งรัดดำเนินการในการช่วยเหลือโรงงานอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับ ผลกระทบจากอุทกภัย ประกอบด้วย 4 ข้อ คือ 1.การยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัตถุดิบ เพื่อทดแทนส่วนที่ได้รับความเสียหาย 2.อำนวยความสะดวกในเรื่องการออกใบอนุญาตทำงานแก่ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ 3.การจัดหาน้ำบริสุทธิ์(purified water) และน้ำสะอาด(clean water) ให้เพียงพอสำหรับการทำความสะอาดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และ4.การจัดหาระบบไฟฟ้าให้ทันเวลาในการเข้าไปฟื้นฟูระบบการผลิต ขณะที่ Keidanren ขอให้ทางรัฐบาลไทยเร่งรัดการดำเนินการใน 2 เรื่อง เพื่อฟื้นฟูภาคธุรกิจญี่ปุ่นในไทย คือ การยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ และวัตถุดิบ รวมถึงการออกใบอนุญาตทำงานแก่ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ให้กับบริษัทที่ได้รับและไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน เพื่อทดแทนส่วนที่ได้รับความเสียหายและสามารถแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูระบบการ ผลิตในบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 29 พ.ย. 2554 นายกิตติรัตน์ เสนอมาตรการยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ รถยนต์สำเร็จรูป และเครื่องจักร ให้ครม.พิจารณาเป็นวาระพิจารณาจรเรื่องที่ 5 โดยแจ้งว่าเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ตามมาตรา 9 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องต่อครม. โดยที่เรื่องดังกล่าวยังไม่ผ่านการพิจารณาของกศอ
ข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ |
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|