นายเซอิจิ โคจิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับน.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม ว่า ญี่ปุ่นยังมั่นใจในรัฐบาลไทยว่าจะสามารถหาหนทางแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นยังมองว่าไทยเป็นแหล่งการลงทุนที่ดีสำหรับญี่ปุ่นอยู่ อย่างแน่นอน เนื่องจากไทยมีระบบสาธารณูปโภคที่ดี เป็นศูนย์กลางของอาเซียน ยังไงก็มั่นใจว่าจะมีการลงทุนจากญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลไทย เอกชนไทย และนักธุรกิจญี่ปุ่นต้องทำ คือการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้นิคมอุตสาหกรรมได้รับการปกป้องอย่างเต็มที่ และหาวิธีป้องกันคุ้มครองบริษัทต่างให้ปลอดภัยจากเหตุการณ์น้ำท่วม “ความมั่นใจและการลงทุนของธุรกิจญี่ปุ่นมีความผูกพันกับไทยมานาน ซึ่งจะไม่ถูกทำลายลงง่ายๆ จึงมั่นใจว่าไทยจะไม่เสียการลงทุนจากญี่ปุ่นไป เพราะปัจจัยด้านการลงทุนของไทยมีความพร้อม และกำลังซื้อในประเทศมีสูง แต่รัฐบาลต้องทำไงยังก็ได้เพื่อจัดการน้ำให้เร็วที่สุด” นายโคจิมะ กล่าว สำหรับความช่วยเหลือญี่ปุ่นมีความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือรัฐบาล ไทยอย่างเต็มที่ โดยจะให้ความช่วยเหลือใน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. การช่วยเหลือในเรื่องเร่งด่วน เฉพาะหน้า เช่น การส่งเครื่องสูบน้ำคุณภาพสูงจำนวน 10 เครื่องมาให้พร้อมเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญมาดูแลการฟื้นฟูต่างๆ 2. ความช่วยเหลือด้านการเงิน โดยธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (เจบิก) พร้อมให้วงเงินกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์ของไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และธุรกิจทั้งของไทยและญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ ซึ่งจะให้ในรูปแบบสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) 3. การร่วมมือแก้ปัญหาน้ำในระยะยาว โดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า) จะเข้ามาช่วงวางแผนระบบการจัดการน้ำ และการป้องกันอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งขณะนี้ทางไจก้าและระบบการจัดการน้ำของโครงการหลวงได้มีความร่วมมือกัน อยู่แล้ว จึงอาจจะมีการเพิ่มความร่วมมือให้มากกว่านี้ โดยญี่ปุ่นจะนำประสบการณ์ในการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงการป้องกันภัยธรรมชาติที่ญี่ปุ่นเคยทำมา มาถ่ายทอดให้กับประเทศไทย เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น น.พ.วรรณรัตน์ กล่าวว่า ได้ชี้แจงการฟื้นฟูพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ให้ทางญี่ปุ่นทราบ ว่าขณะนี้ไทยมีความพร้อมในเรื่องแผนการฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมแต่ละแห่งอยู่ แล้ว และจะเริ่มดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ ขณะที่พื้นที่นิคมฯ ที่น้ำยังไม่ท่วมถึง แต่เป็นพื้นที่เสี่ยง ได้มอบหมายให้ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมแต่ละหน่วยงานลงไปประจำในพื้นที่ เพื่อป้องกันนิคมฯอย่างเข้มข้น ส่วนของนิคมฯบางชัน ที่ขณะนี้เริ่มได้รับผลกระทบจากระดับน้ำในคลองแสนแสบที่สูงขึ้น ก็ได้วางแนวป้องกันสูงที่ระดับ 2.10 เมตร และเสริมแนวกระสอบทรายดำเนินการเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้จึงอยู่ที่การบริหารจัดการน้ำให้สมดุล ระหว่างน้ำที่ไหลเข้าและน้ำไหลออก
ข้อมูลจาก โพสต์ทูเดย์
|
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|