น้ำท่วมครั้งนี้ ถือว่าหนักหนาทีเดียวโดยเฉพาะจังหวัดในภาคกลาง ที่สำคัญน้ำท่วมครั้งนี้ ไม่ได้เสียหายเฉพาะไร่นา สวนหรือภาคเกษตรเท่านั้น
แต่กระทบไปถึงภาคอุตสาหกรรม ที่เป็นอีกหัวใจของการส่งออก เนื่องจากอย่างน้อย 4-5 นิคมอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและรถยนต์ ที่ไทยเป็นฐานส่งออกไปทั่วโลก เมื่ออุตสาหกรรมต้นน้ำกระทบไปแล้ว ก็จะขยายกระทบไปสู่อุตสาหกรรมอื่นต่อเนื่องกันไป ซึ่งนักวิชาการบางรายถึงกับเปรียบเทียบว่าน้ำท่วมครั้งนี้ อาจจะเสียหายเทียบเท่าญี่ปุ่นเผชิญสึนามิก็เป็นได้ เพราะอุตสาหกรรมหลายด้านเสียหาย ซึ่งหากคำนวณเป็นทางเศรษฐกิจเชื่อว่าคงมากกว่า 1 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน เพราะถึงขณะนี้ ยังไม่เห็นทิศทางว่าจะยุติเมื่อไร ซึ่งหากพิจารณาจากแบบจำลอง River Network Model ที่จัดทำโดยบริษัททีมพยากรณ์ระดับในแม่น้ำเจ้าพระยาล่วงหน้า 1 เดือน ตั้งแต่ 15 ตุลาคมถึงประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 2554 โดยการใช้จากการประมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์ รวมกับแม่น้ำป่าสักที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามสภาพการไหลในลำน้ำ การกั้นด้วยพนังกั้นน้ำ และการพังทลาย และถนนสายหลักต่างๆ การระบายน้ำในคลองสายหลัก และการไหลบ่าของน้ำในทุ่ง รวมถึงการหนุนสูงของน้ำทะเลในช่วงวันที่ 15 ตุลาคม 31 ตุลาคม และ 15 พฤศจิกายน 2554 พบว่ากลุ่มพื้นที่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ระดับน้ำน้ำเจ้าพระยา ยังคงสูงไปถึง 15 พฤศจิกายนเป็นอย่างน้อย ซึ่งนั่นเท่ากับว่าเขตนิคมอุตสาหกรรมยังเป็นจุดเสี่ยงอยู่ต่อไป
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ สำนักวิจัยทิสโก้ ประเมินว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบจากปัญหาห่วงความไม่ต่อเนื่องของห่วงโซ่อุป ทาน เพราะอยุธยาถือได้ว่าเป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจมากที่สุด จากที่มีนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่หลายแห่ง โดยส่วนใหญ่เป็นแหล่งผลิต ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นวัตถุดิบขั้นกลางที่สำคัญในการผลิตสินค้าต่างๆ โดยโรงงานส่วนใหญ่ในอยุธยาได้ระงับการผลิต หลังเหตุน้ำท่วมทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะทำให้โรงงานในอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมโดยตรง แต่อาจได้รับผลกระทบจากความไม่ต่อเนื่องของห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ จากข้อมูลตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ในการผลิตเป็นสัดส่วนสูงสุดที่ 4.6% รองลงมา ได้แก่ การก่อสร้างภาคเอกชน (2.9%) และสาธารณูปโภค (1%) รวมไปถึงการก่อสร้างภาครัฐ การผลิตเครื่องจักร การค้าส่ง และค้าปลีก บริการการสื่อสารโรงแรมและร้านอาหาร สถาบันการเงิน การขนส่ง
น้ำท่วมครั้งนี้ จึงไม่เฉพาะทรัพย์สินและสภาพจิตใจของประชาชนเท่านั้นที่ต้องได้รับการเยียว ยา ในส่วนภาคอุตสาหกรรม ก็ต้องกลับมาคิดแผนบูรณาการกันใหม่ เพราะความภูมิใจที่เราเป็นฐานการผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มากว่า 40 ปี อาจจะสูญเสียฐานให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามก็เป็นได้ ดังนั้น หลังจากนี้ ต้องเร่งสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน โดยเฉพาะจากญี่ปุ่น ที่เริ่มร้อนใจและไม่พอใจกับการปฏิบัติงานของรัฐบาล โดยเฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสารภัยพิบัติ ซึ่งเป็นหัวใจพื้นฐาน ขณะเดียวกัน เมื่อเราทราบแล้วว่าสถานการณ์น้ำท่วมในอยุธยา ปทุมธานี น่าจะยืดเยื้ออีก 1 เดือนก็ต้องเร่งหารือกับนักลงทุน เพื่อสร้างความมั่นใจและเป็นการแสดงถึงความใส่ใจของไทย เพราะมิฉะนั้นแล้ว เราอาจจะเห็นการเมินหนีของนักลงทุนญี่ปุ่น ที่คบหากันมายาวนานกว่า 40 ปีก็เป็นได้
ข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์
|
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|