หุ้นบ.ญี่ปุ่นในไทย ที่เจอภัยน้ำท่วม ร่วงหนักในตลาดญี่ปุ่นหลังต้องระงับการผลิต"ฮอนด้า-โตโยต้า"กอดคอร่วงขณะที่นิคอนทรุด 3.47% หุ้นบริษัทญี่ปุ่นใน ไทย ที่เจอภัยน้ำท่วม ร่วงลงหนักในตลาดญี่ปุ่น หลังต้องระงับการผลิต โดยในกลุ่มบริษัทที่ต้องชะลอการผลิตในไทยนั้น หุ้นโตโยต้า มอเตอร์ ร่วงลง 0.30% มาอยู่ที่ 2,582 เยน ส่วนฮอนด้า มอเตอร์ ดิ่งลง 2.21% ที่ 2,295 เยน ขณะที่นิคอน ซึ่งผลิตเลนส์ และกล้องเอสแอลอาร์ ในไทยทรุดลงไปถึง 3.47% ที่ 1,780 เยน จากความกังวลถึงผลกระทบจากน้ำท่วม ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับฤดูกาลจับจ่ายซื้อของปลายปี นายฮิเดยูกิ มาเอะคาวะ นักวิเคราะห์จากเครดิต สวิส ระบุไว้ในรายงานถึงลูกค้าว่า ถึงแม้บริษัทจะออกแผนดำเนินงานแบบอนุรักษ์นิยม ในช่วงครึ่งหลังของปีงบการเงินปัจจุบัน แต่ก็ชัดเจนว่า ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดต่อรายได้ ระหว่างการซื้อขายในช่วงเช้า หุ้นบริษัทไพโอเนียร์ คอร์ป ผู้ผลิตระบบนำร่องรถยนต์ญี่ปุ่น ดิ่งหนักสุดในรอบ 7 เดือน ถึง 9.5% เป็นแกนนำขาลงของกลุ่มบริษัทญี่ปุ่นที่มีการลงทุนในไทย ที่ต้องปิดโรงงานเพราะน้ำท่วมใหญ่ ซึ่งนายฮิโรมิสึ คิมูระ โฆษกไพโอเนียร์ เผยว่า โรงงานในไทยถือเป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นส่วนสำคัญ นายมิสึโอะ ชิมิซุ นักวิเคราะห์จากคอสโม ซิเคียวริตีส์ ในกรุงโตเกียวชี้ว่า ราคาหุ้นที่ร่วงลงเป็นผลมาจากความกังวลว่า การระงับการผลิตข้างต้นอาจทำให้เกิดปัญหาในด้านห่วงโซ่สินค้าขึ้นมา และดูเหมือนว่ากลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ อิเล็กทรอนิคส์ และชิ้นส่วนต่างๆ จะได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ด้านโฆษกนิคอน ระบุว่า ยังกำหนดวันที่โรงงานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะกลับมาดำเนินการผลิตไม่ได้ ซึ่งนักวิเคราะห์จากเจพี มอร์แกน ในกรุงโตเกียว ชี้ว่า นิคอนมีสต็อกกล้องเอสแอลอาร์ เพียงพอสำหรับ 1 เดือน และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ หากสามารถเดินเครื่องโรงงานได้ภายใน 1 เดือน แต่หากนิคอนต้องหยุดการผลิตไป 2 เดือน ก็อาจทำให้รายได้หายไปราว 3 หมื่นล้านเยน และกำไรจากการดำเนินงานลดลงราว 5 พัน- 1 หมื่นล้านเยน โตโยต้าระงับผลิตถึงวันเสาร์ โรงงานทั้ง 3 แห่งมีกำลังการผลิตโดยรวมอยู่ที่ปีละ 650,000 คัน ซึ่งบริษัทยังระบุไม่ได้ว่า การระงับการผลิตครั้งล่าสุดนี้ จะส่งผลให้จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ลดลงมากน้อยเท่าใด เนื่องจากยังไม่ชัดเจนว่า จะต้องระงับการผลิตไปอีกนานเท่าใด โดยโรงงานทั้ง 3 แห่ง มีการผลิตคิดเป็นสัดส่วนราว 8% ของการผลิตทั่วโลก ทางด้านฮอนด้า มอเตอร์ ระบุว่า โรงงานของทางบริษัทในไทย ยังเผชิญภาวะน้ำท่วม ซึ่งเหตุการณ์นี้ส่งผลให้ฮอนด้า ต้องปิดการผลิตราว 4.7% ของปริมาณการผลิตทั่วโลก ในบรรดาบริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ 3 แห่งของญี่ปุ่นนั้น ฮอนด้ามีแนวโน้มที่จะเป็นบริษัทที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดจากเหตุน้ำ ท่วม ส่วนนิสสันแถลงว่า ทางบริษัทอาจประสบปัญหาขัดข้องบางประการ โฆษก ของฮอนด้า เผยด้วยว่า เนื่องจากไม่มีผู้ใดได้รับอนุญาตให้เข้าไปในโรงงานในจ.อยุธยา ฮอนด้าจึงยังไม่สามารถประเมินความเสียหายของเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต หรือประเมินว่าการผลิตรถยนต์จะเริ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อใดหลังจากปิดการผลิตมา ตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค. นายมาซาตากะ คุนุงิโมโตะ นักวิเคราะห์ของโนมูระ คาดการณ์ว่า จะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าที่จะเปิดการผลิตอีกครั้ง แต่หากต้องปิดการผลิตนานถึง 3 เดือน จะหมายถึงการสูญเสียการผลิตรถยนต์ 60,000 คัน และอาจทำให้กำไรจากการดำเนินงานลดลง 2.5 หมื่นล้านเยน (325 ล้านดอลลาร์) นอกจากนี้ การที่โรงงานของฮอนด้าในประเทศไทย จัดส่งชิ้นส่วนให้กับโรงงานอื่นๆในภูมิภาค ความเสียหายดังกล่าวจึงอาจส่งผลกระทบต่อการจัดหา และกระทบการผลิตในประเทศอื่นๆ นอกเสียจากว่าบริษัทจะสามารถจัดหาชิ้นส่วนจากที่อื่นๆ ไพโอเนียร์รอประเมินสถานการณ์ นายรุ่งโรจน์ เลิศอำนาจกิจเสรี ผู้จัดการฝ่ายการตลาดเครื่องเสียงบ้าน บริษัท ไพโอเนียร์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า โรงงานไพโอเนียร์ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมเช่นกัน ซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ โดยขณะนี้ไม่สามารถประเมินถึงความเสียหายได้ เนื่องจากทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์หลายอย่างได้รับผลกระทบ เพราะน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ถือว่ามาเร็วมาก แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาก็มีการเคลื่อนย้ายออกมามากแล้วเช่นกัน สำหรับโรงงานไพโอเนียร์ที่ตั้งอยู่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ เป็นโรงงานผลิตเครื่องเสียงติดรถยนต์ ซึ่งที่นี่เป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ของไพโอเนียร์ ที่ไม่เพียงแต่ผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นฐานผลิตใหญ่ที่ส่งออกทั่วโลก หรือโรงงานที่ประเทศไทยเป็นโรงงานที่มีกำลังผลิตถึงครึ่งหนึ่งของกำลังผลิต ทั่วโลก "ปริมาณน้ำเข้าไปเร็วมากเกินกว่าที่คาดคิด ทุกอย่างต้องรอน้ำลดจึงจะสามารถประเมินความเสียหายได้ และคาดว่าจะส่งผลกระทบกับการทำตลาดบ้าง สัดส่วนธุรกิจของไพโอเนียร์ในเมืองไทย กลุ่มเครื่องเสียงติดรถยนต์มีสัดส่วนการขายมากที่สุดถึง 65% รองลงมาคือ เครื่องเสียงบ้าน 30% และกลุ่มดีเจ 5%" โซนี่ปิดถึง 16 ต.ค. "ตอนนี้ โรงงานที่ปิดจะมีแค่ที่นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ถึงน้ำยังไม่เข้า แต่เราก็ปิดโรงงานก่อน เพื่อความปลอดภัยของพนักงานจะหยุดถึงวันอาทิตย์นี้ หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นก็คงต้องปรับแผน ส่วนของผู้บริหารเองก็คงยังไม่สามารถตอบอะไรได้ชัดเจนมากนัก เพราะต้องรอดูสถานการณ์" ทั้งนี้ ผลกระทบระยะสั้นไม่น่าจะมีอะไร เพราะโซนี่วางแผนผลิตล่วงหน้าอยู่แล้ว ที่มีปัญหา คือ เรื่องการขนส่งที่อาจชะลอออกไป เพราะบางเส้นทางไม่สามารถขนส่งสินค้าไปได้ เช่นเดียวกับ บริษัท แคนนอน ไฮ-เทค (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค และเป็นฐานผลิตเครื่องพิมพ์ของแคนนอน ล่าสุดได้ประกาศปิดโรงงานเป็นการชั่วคราวแล้วเช่นกัน ขณะที่ผู้บริหารแคนนอนยืนยันว่า โรงงานผลิตเครื่องพิมพ์อีกแห่งที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเป็นโรงงานผลิตแห่ง ที่ 2 ในไทยคงเดินหน้าไปตามแผน และยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ
ข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ
|
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|