วอลสตรีทเจอร์นัลรายงานว่า ญี่ปุ่นเกินดุลบัญชีเดินสะพัดน้อยที่สุดในรอบเกือบ 3 ทศวรรษ ในปี 2556 จากการที่ความต้องการพลังงานและอุปสงค์ของตลาดภายในประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์การเติบโตของรัฐบาลผลักดันให้การนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยตัวเลขดุลการชำระเงินซึ่งวัดรายรับสุทธิจากการค้าและการลงทุนกับประเทศอื่นๆ ทั้งโลกคิดเป็นออกมาเกินดุล 3.31 ล้านล้านเยน (ราว 1.06 ล้านล้านบาท) ลดลง 31.5 เปอร์เซ็นต์จากเมื่อปีก่อนหน้า และนับว่าน้อยที่สุดหากคิดด้วยวิธีการคำนวณที่ใช้อยู่ในปัจจุบันซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2528
เฉพาะตัวเลขในเดือนธันวาคม มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันถึง 638,600 ล้านเยน (ราว 204,000 ล้านบาท) จากการที่อัตราขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแซงหน้ารายรับจากการลงทุนในต่างประเทศ
การขาดดุลการค้าเพิ่มมากขึ้น สร้างความประหลาดใจให้นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากที่คาดว่า ค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลงเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่แล้ว จะช่วยเหลือเกื้อหนุนภาคการส่งออก ทว่าการส่งออกยังคงชะงักงัน ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศที่มากขึ้นผลักดันให้มีการซื้อผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังคงต้องนำเข้าพลังงานซากดึกดำบรรพ์ปริมาณมาก เพื่อมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าทดแทนส่วนที่ผลิตจากพลังงานนิวเคลียร์ก่อนหน้านี้ โดยหลังจากภัยพิบัติที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 48 แห่งของประเทศยังคงปิดการทำงานโดยที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเปิดใช้งานได้อีกครั้งเมื่อไหร่
ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่า มูลค่าการนำเข้าทั้งหมดรวมแล้วอยู่ที่ 77 ล้านล้านเยนในปี 2556 ซึ่งนับว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ นายทาคุมะ นากามูระ นักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัยมิซูโฮะ ระบุว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นจะไม่ติดลบตลอดไป โดยบอกว่า รายรับที่เห็นได้ชัดเจนจากสินทรัพย์ในต่างประเทศและพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นของการขาดดุลการค้าจากการที่เศรษฐกิจในหลายๆประเทศ เริ่มดีขึ้นทำให้มีแนวโน้มว่าญี่ปุ่นจะไม่ขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง ทว่าคงจะไม่ได้เห็นตัวเลขเกินดุลการค้าในระดับมากมายอย่างในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 อีกแล้ว
ข้อมูลจาก มติชน ออนไลน์
|
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|