กระทรวงการคลังญี่ปุ่นรายงาน ว่า ตัวเลขขาดดุล 11.47 ล้านล้านเยน มากที่สุดตั้งแต่ปี 2522 เฉพาะเดือนธันวาคม 2556 เดือนเดียว ตัวเลขขาดดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2555 ถึงสองเท่า ทั้งนี้เนื่องจากในปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีการนำเข้าน้ำมันเพิ่มมากขึ้น หลังจากวิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมา ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2554 ทำให้ต้องปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายแห่ง ที่เคยเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าหลักให้กับประเทศ ขณะเดียวกันการอ่อนค่าลงอย่างมากของเงินเยน ที่แม้จะทำให้ผู้ส่งออกทำกำไรได้มากขึ้น แต่ก็ทำให้ต้นทุนการนำเข้าพลังงานเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ส่วนการส่งออก ในปี 2556 ญี่ปุ่นมียอดส่งออกเพิ่มขึ้น 9.5% ที่ 69.79 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี ได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของความต้องการในจีน รวมถึง สหรัฐ และยุโรป 2 ตลาดส่งออกหลักของประเทศ ส่วนการนำเข้าทะยานขึ้นถึง 15% แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 81.26 ล้านล้านเยน บริษัทวิจัยเศรษฐศาสตร์มหภาค "แคปิตอล อีโคโนมิกส์" รายงานว่า ยังไม่มีสัญญาณว่าเงินเยนอ่อนค่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้การ ส่งออกญี่ปุ่น ด้วยส่วนแบ่งการส่งออกของญี่ปุ่นในตลาดโลกเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แม้เงินเยนจะอ่อนค่าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์ เหตุผลสำคัญคือ ผู้ส่งออกลังเลที่จะลดราคาสินค้าลง นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบันวิจัยเอ็นแอลไอ "นายทาโร ซาอิโตะ" คาดว่า ญี่ปุ่นจะขาดดุลต่อไปอีกระยะหนึ่ง พื้นฐานสำหรับการส่งเสริมการส่งออกของญี่ปุ่นกำลังยากขึ้น เนื่องจากหลายบริษัทย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ดังนั้นสมการที่ว่า เงินเยนอ่อนค่าเท่ากับการส่งออกเพิ่มขึ้นจึงไม่เป็นจริงอีกต่อไป
ข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ |
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|