ชุมนุมยังยืดเยื้อ กระทบแผนลงทุนจากร้านอาหารญี่ปุ่นมาไทย ปีนี้ส่อแววเปิดสาขาใหม่ลดลง แต่ไทยยังมีโอกาสเห็นนักลงทุนญี่ปุ่นมาเปิดร้านอาหารในไทยทะลุ 3,000 ร้านใน 3-5 ปี พร้อมติดท็อป 5ของโลกได้ ส่วนปีนี้คาดทะลุ 2,000 ร้านค้า หรือมีมูลค่ากว่า 48,000 ล้านบาท นายมิตซุงุ ไซโตะ อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัญหาทางการเมืองและการชุมนุมที่เกิดขึ้นในไทยในช่วงนี้เป็น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนจากญี่ปุ่นชะลอแผนการลงทุนในไทยออกไปก่อน ซึ่งต่อเนื่องมาตั้งแต่ปัญหาน้ำท่วมจนถึงการชุมนุมที่เกิดขึ้นและมีแนวโน้ม จะยืดเยื้อในครั้งนี้ พบว่าตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556 จนถึงปัจจุบันนักลงทุนญี่ปุ่นมีความกังวลเพิ่มขึ้นกว่า 30% แต่ทั้งนี้ยังไม่เห็นสัญญาณว่าจะยกเลิกการลงทุนในระยะยาวในไทยแต่อย่างใด ด้านนายยาสึมาสะ อาซะอิ ผู้จัดการฝ่ายสาขาประเทศไทย โครงการส่งเสริมร้านอาหารญี่ปุ่นให้แพร่หลายในต่างประเทศ (JRO) กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยมีกว่า 1,800 ร้าน ภายในเดือน เม.ย. 2557 น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ร้าน โดยจำนวนที่เกิดขึ้นใหม่ 200 ร้านนั้น 50% เป็นเชนร้านอาหารญี่ปุ่นที่เข้ามาเปิดในไทย และอีก 50% เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นที่เปิดใหม่ ซึ่งต่อเดือนแต่ละร้านจะมีรายได้ประมาณ 2 ล้านบาท หรือทั้งปีนี้คาดว่ามูลค่าร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยจะมีสูงถึง 48,000 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมาการส่งออกสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบเกี่ยวกับ อาหารจากญี่ปุ่นมาประเทศไทย ตั้งแต่ ม.ค.-พ.ย. 56 มีมูลค่า 31,800 ล้านเยน สูงกว่าสองปีก่อนหน้าที่ปิดอยู่ที่ 26,500 ล้านเยน อย่างไรก็ตาม มองว่าทั้งปีนี้จำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นใหม่เมื่อเทียบกับปีที่ ผ่านมามีแนวโน้มลดลงจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และหากการชุมนุมยังยืดเยื้อ มั่นใจว่านักลงทุนในญี่ปุ่นอาจจะมีการยกเลิกการลงทุนในไทยออกไป จากปัจจุบันจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยอยู่ในอันดับที่ 7 ของโลก โดยภายใน 3-5 ปีน่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ร้านได้ และไทยยังมีโอกาสติดท็อป 5 ในอนาคตด้วย จากปัจจุบันอันดับ 1 คือ อเมริกา 15,000 ร้าน อันดับสองคือ จีน มี 4,000 ร้าน และอันดับ 3 คือ ไต้หวัน มี 3,000 ร้าน ล่าสุดทาง JRO ได้จัดงานเทศกาลร้านอาหารญี่ปุ่นปี 2557 ระหว่างวันที่ 1-28 ก.พ. 57 มีร้านอาหารญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ รวมกว่า 73 ร้าน เช่น ร้าน Yamazato, Nippon tei, Ume no Sato, ZUMA, Sakuragawa, Tsukiji, Gyu Gyu Tei และ Hachiban Ramen ใช้วัตถุดิบหลักในการประกอบอาหาร ประกอบด้วย ปลาบุริฤดูหนาว จากจังหวัดอิชิคาวะ, เนื้อวัวโอมิ จากจังหวัดชิกะ, สตรอว์เบอร์รีอะมะโอ จากจังหวัดไอจิ รวมถึงหอยเชลล์ จากฮอกไกโด, ไข่ปลาแซลมอน จากฮอกไกโด และปลาคัมปาจิ จากจังหวัดเอฮิเมะ เป็นต้น เทศกาลอาหารญี่ปุ่นครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองที่อาหารญี่ปุ่น : วัฒนธรรมอาหารแบบดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทาง วัฒนธรรมโดยยูเนสโกเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 56 สำหรับโครงการส่งเสริมการเผยแพร่ร้านอาหารญี่ปุ่นในต่างประเทศ หรือ JRO ฝ่ายประจำกรุงเทพฯ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ก.ค. 50 โดยได้สนับสนุนร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยราว 1,000 องค์กร ประมาณ 2,000 ร้านค้า และในปีนี้เพื่อเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นต่อผู้บริโภคโดยตรง ร้านอาหารญี่ปุ่นที่อยู่ใจกลางกรุงเทพฯ และร้านอาหารที่มีความสนใจในวัตถุดิบญี่ปุ่นทั้งหมด 37 องค์กร 73 สาขาได้เข้าร่วมกิจกรรม โดยการนำเข้าวัตถุดิบจากอุตสาหกรรมอาหารและหน่วยงานต่างๆ จากกรุงโตเกียว, เมืองคานาซาวะ, เกียวโต และโอซากา เป็นต้น
ข้อมูลจาก ผู้จัดการ ออนไลน์
|