สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นมองเศรษฐกิจในทางบวกลดลง อ้างอิงจากผลสำรวจรายไตรมาสของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความกังขาที่ฝังรากลึกในเรื่องที่ว่า นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ที่เรียกว่า "อาเบะโนมิกส์" จะทำให้ค่าแรงเพิ่มขึ้นในระดับที่สามารถรับมือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้ หรือไม่
ผลสำรวจระบุว่า อัตราส่วนของครัวเรือนที่ไม่โปรดปรานการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคยัง คงอยู่ที่ระดับสูงมากถึงราว 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นลางไม่ดีสำหรับความพยายามของบีโอเจที่จะเพิ่มระดับอัตราเงินเฟ้อให้ได้ ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ตามเป้า ในประเทศที่เกิดภาวะเงินฝืดมานานนับทศวรรษ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น โดดเด่นที่สุดในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ชาติ หรือ จี7 ด้วยกัน ในช่วงครึ่งแรกของปีที่แล้ว โดยมีสาเหตุมาจากความคาดหวังของนักลงทุนที่มีต่อ "อาเบะโนมิกส์" ก่อนที่จะชะลอตัวลงในไตรมาส 3 เนื่องจากการส่งออกอ่อนแอ
นักวิเคราะห์คาดว่า เศรษฐกิจจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง จากการที่ผู้บริโภคจะแห่กันใช้จ่ายก่อนหน้าที่จะมีการปรับขึ้นภาษีการขาย หรือภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนเมษายนนี้ แม้จะมีความกังวลว่า การปรับขึ้นภาษีจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีก็ตาม
สัญญาณที่บ่งบอกว่า ผู้บริโภคเป็นกังวลเกี่ยวกับความเจ็บปวดจากการปรับขึ้นภาษีคือ บรรยากาศของภาคครัวเรือนในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันและภาพรวมในช่วงเวลา 1 ปีข้างหน้า เลวร้ายลงกว่าเมื่อไตรมาสก่อนหน้า โดย 80.9 เปอร์เซ็นต์คาดว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้นในปีหน้า ในจำนวนนี้ 80.3 เปอร์เซ็นต์มองว่าเป็นเรื่องไม่น่ายินดี มีเพียง 3.8 เปอร์เซ็นต์ที่มองว่าน่ายินดี
ข้อมูลจาก มติชน ออนไลน์ |
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|