รายงานสภาวะศก.ของครม.ญี่ปุ่น ถอดคำว่า "ภาวะเงินฝืด" ออกไปเป็นครั้งแรกนับแต่ปลายปี 2552 แต่นักวิเคราะห์เตือน ยังไม่แน่ว่าจะบรรลุเป้าเงินเฟ้อ 2 เปอร์เซ็นต์ที่วางไว้ได้ สำนัก ข่าวเอเอฟพีรายงานว่า รายงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่นที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม มีการตัดคำว่า "ภาวะเงินฝืด" ออกจากถ้อยคำที่ใช้เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ทว่านักวิเคราะห์เตือนว่า การต่อสู้กับดัชนีราคาผู้บริโภคที่ลดลงนั้นยังห่างไกลที่จะเอาชนะได้
รายงาน ประจำเดือนธันวาคมของคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นประเมินภาพรวมของประเทศที่มีขนาดของ เขตเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกในทางบวกมากยิ่งขึ้น แม้จะมีสัญญาณของการชะลอตัวในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
"เศรษฐกิจ ญี่ปุ่นอยู่บนเส้นทางของการฟื้นตัวที่อัตราเร็วปานกลาง การบริโภคภาคเอกชนกำลังดีขึ้น ดัชนีราคาผู้บริโภคเริ่มมั่นคง" รายงานระบุ
เป็นครั้งแรกที่รายงานของรัฐบาลไม่มีการใช้คำว่า "เงินฝืด" ในการประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 เป็นต้นมา เมื่อรัฐบาลยอมรับว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคลดลงอย่างยาวนานหลังจากเกิดวิกฤตการเงินโลกขึ้นในปี 2551 โดยเมื่อเดือนที่แล้วรายงานระบุว่า "พัฒนาการของดัชนีราคาผู้บริโภคบ่งชี้ว่าภาวะเงินฝืดสิ้นสุดลงแล้ว"
"เป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะตัดคำดังกล่าวออกจากรายงานเศรษฐกิจประจำเดือน จากการที่แรงกดดันขาลงของราคาผ่อนคลายลงอย่างมั่นคง" นายฮิเดกิ มัตสึมูระ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ของสถาบันวิจัยญี่ปุ่นกล่าว และว่า "ยังเร็วเกินไปที่จะประกาศว่า ภาวะเงินฝืดสิ้นสุดลงแล้ว ยังคงไม่แน่นอนว่า จะสามารถบรรลุเป้าภาวะเงินเฟ้อ 2 เปอร์เซ็นต์ได้ตามที่วางแผนไว้"
ด้านจากการที่สภาพเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น และรายรับที่ได้จากภาษีเพิ่มมากขึ้น ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นหวังว่าจะลดการขาดดุลงบประมาณในปีการเงินนี้ที่จะเริ่ม ต้นในเดือนเมษายน 2557 เนื่องจากยังมีความกังวลเกี่ยวกับหนี้สาธารณะที่พอกพูนมากขึ้นของประเทศ
อ้างอิงจากร่างงบประมาณที่เผยแพร่วันเดียวกันนี้ งบประมาณขาดดุลคาดว่าจะลดลงจาก 42.9 ล้านล้านเยน (ราว 13.5 ล้านล้านบาท) ในปีการเงินปัจจุบัน มาอยู่ที่ 41.3 ล้านล้านเยน (ราว 13 ล้านล้านบาท) ในปีการเงินที่เริ่มต้นในเดือนเมษายน 2557 หรือคิดเป็น 8.3 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)
โดยสิ่งที่มีผลต่อการลดงบประมาณขาดดุลมากที่สุดคือรายรับ 4.5 ล้านล้านเยน ที่จะได้จากการปรับเพิ่มภาษีการขายหรือภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนเมษายนจาก 5 เปอร์เซ็นต์ เป็น 8 เปอร์เซ็นต์
คาดว่างบประมาณรายจ่ายทั้งหมดสำหรับปีการเงินหน้าจะอยู่ที่ 95.9 ล้านล้านเยน (ราว 30 ล้านล้านบาท) ลดลงจาก 98.1 ล้านล้านเยนที่วางไว้สำหรับปีการเงินปัจจุบัน โดยตัวเลขของปีนี้วางงบประมาณเบื้องต้นไว้ที่ 92.6 ล้านล้านเยน และงบประมาณเพิ่มเติมอีก 5.5 ล้านล้านเยน
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการรับประกันว่างบประมาณรายจ่ายจะอยู่ภายในจำนวน 95.9 ล้านล้านเยน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเศรษฐกิจสูญเสียแรงเหวี่ยงภายหลังจากที่ภาษีการขายปรับเพิ่มขึ้นในเดือน เมษายน มีแนวโน้มว่าเสียงเรียกร้องให้มีการกระตุ้นทางการคลังจะเพิ่มขึ้นไปจนถึง สิ้นปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงเวลากำหนดเส้นตายว่าจะมีการตัดสินใจปรับขึ้นภาษีการขายขั้นที่ 2 จาก 8 เปอร์เซ็นต์เป็น 10 เปอร์เซ็นต์ สำหรับปี 2558 หรือไม่
ข้อมูลจาก มติชน ออนไลน์ |
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|