ทาดาชิ ยานาอิ ผู้ก่อตั้ง แบรนด์เสื้อผ้าญี่ปุ่นที่โด่งดังไปทั่วโลก ยูนิโคล่ แสดงความกระตือรือร้นอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงนวัตกรรมสิ่งทอของบริษัท "คนอเมริกันเชื่อว่าฝ้ายคือผ้าเนื้อดีที่สุด แต่เราคิดค้นผ้าชนิดใหม่ที่จะมาเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของผู้คน" ยานาอิกล่าว นวัตกรรมชิ้นแรกที่ ยานาอิ ภูมิใจเสนอ ได้แก่ "ฮีทเทค" เสื้อผ้าเนื้อบางเฉียบแต่ให้ความอบอุ่นแก่ผู้สวมใส่ เป็นการพัฒนาร่วมกับบริษัทญี่ปุ่นที่เป็นผู้จัดหาผ้าคาร์บอนสำหรับใช้กับเครื่องบินโบอิง 787 ดรีมไลเนอร์ นวัตกรรมชิ้นต่อมา คือ "แอริซึ่ม" เสื้อผ้าเนื้อบางเบาที่ ยานาอิ คุยอวดว่า "เบาจนไม่รู้สึกว่าสวมใส่อยู่" เป็นสินค้าที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่งในช่วงฤดูร้อน ความทะเยอทะยานดังกล่าวอาจไม่มีความหมาย หาก ยานาอิ ไม่เคยเป็นที่สนใจของอุตสาหกรรมเสื้อผ้ามาก่อน เขาบุกตลาดสหรัฐด้วยการเปิดร้านสาขา 3 แห่งในนิวยอร์ก รวมถึงร้านหลักในย่านฟิฟธ์อะเวนิว ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของร้านสาขาทั้งหมดทั่วโลก บนพื้นที่ 89,000 ตารางฟุต แม้การเปิดร้านครั้งแรกในสหรัฐเมื่อปี 2548 จะลงเอยด้วยความล้มเหลวจนต้องปิดตัวลง แต่ยูนิโคล่ ก็ไม่ย่อท้อและหวนกลับเข้าไปอีกครั้งในอีก 1 ปีต่อมา โดยเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่บนพื้นที่ 36,000 ตารางฟุตในย่านโซโห ถิ่นแฟชั่นแห่งแมนฮัตตัน ตามด้วยอีก 2 สาขาในนิวยอร์กภายในเวลาไม่กี่ปี นอกจากนี้ ยานาอิ สามารถดึงดีไซเนอร์ชื่อดัง อย่าง จิล แซนเดอร์ ที่ปลดเกษียณตัวเองไปแล้ว กลับเข้าสู่วงการอีกครั้ง พร้อมด้วยผลงานที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง และผู้จัดการร้านยูนิโคล่ต้องศึกษาเทคนิคการขายจาก ยานาอิ ก่อนจะออกไปประจำการตามสาขาต่างๆ ทั่วโลก ยูนิโคล่ เตรียมเปิดร้านใหม่อีก 2 แห่งในซานฟรานซิสโกและนิวเจอร์ซี ภายในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ และจะเปิดเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซด้วย บริษัทหวังว่าจะเปิดร้านสาขาในสหรัฐเพิ่มอีกหลายร้อยแห่ง โดยจะเปิดปีละ 20-30 แห่ง พูดกันสั้นๆ ยูนิโคล่ ประกาศว่าจะเอาชนะ แก๊ป ถึงในบ้าน โดยจำหน่ายเสื้อผ้าแบบธรรมดาๆ ในราคาที่ทุกคนจ่ายได้ และ ยานาอิ มั่นใจว่า แบรนด์เสื้อผ้าที่มีรากเหง้ามาจากญี่ปุ่น จะกลายเป็นเสื้อผ้ากระแสหลักในสหรัฐได้ไม่ว่าจะในเมืองใหญ่หรือเมืองเล็ก ยานาอิ ให้เหตุผลว่า นักช้อปในแมนฮัตตันหรือมิลวอกีไม่ได้มีความแตกต่างกัน เขาได้แรงบันดาลใจจากผู้ประกอบการชาวอเมริกันที่เน้นความเรียบง่าย อย่าง สตีฟ จ็อบส์ ซึ่งสามารถพลิกความเรียบง่ายให้กลายเป็นความสวยงามทันสมัย แม้การเปรียบเทียบแบรนด์เกิดใหม่กับ แอ๊ปเปิ้ล ดูเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่ ยานาอิ มีมุมมองเช่นนั้นจริงๆ สำหรับเขาแล้ว ไม่ใช่บริษัทเสื้อผ้าทั่วไป แต่เป็นบริษัทไฮเทครายหนึ่งมากกว่า นาโอกิ ทากิซาวา ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของ ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าดีไซเนอร์ของแบรนด์ อิสเสะ มิยาเกะ เล่าถึงครั้งแรกที่ได้เจอ ยานาอิ ว่า เขาได้รับการฝึกฝนมาให้จินตนาการถึงลูกค้าในยามที่ออกแบบสินค้า ทั้งสถิติประชากร ระดับรายได้ และไลฟ์สไตล์ แต่ ยานาอิ บอกกับเขาว่า ไม่ต้องการดีไซเนอร์ที่กำหนดกลุ่มลูกค้าชัดเจน ยานาอิ บอก ทากิซาวา ให้ออกแบบสินค้าสำหรับคนทั่วไป อันเป็นที่มาของสโลแกน "ทำมาเพื่อทุกคน" เขาต้องการให้ ทากิซาวา คิดถึงเครื่องไอโฟนของ แอ๊ปเปิ้ล ซึ่งไม่ได้ทำขึ้นเพื่อลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นการสร้างสรรค์สินค้าที่สมบูรณ์แบบสำหรับทุกคน เป็นสินค้าที่มีประสิทธิภาพและเชื่อถือได้ และในขณะเดียวกัน การออกแบบก็ต้องสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ด้วย ยานาอิ บอกให้ ทากิซาวา ทำแบบเดียวกันนั้นกับเสื้อผ้า ซึ่งแนวคิดดังกล่าวพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นการมาถูกทางอย่างแท้จริง เมื่อเดือน พ.ค. ยูนิโคล่ สร้างความประหลาดใจแก่วงการ ด้วยการแต่งตั้ง โนวัค ยอโควิช สุดยอดนักเทนนิสจากเซอร์เบีย เป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ ซึ่งดูเหมือนจะเหมาะกับแบรนด์กีฬา อย่าง ไนกี้ หรืออาดิดาส มากกว่า แต่เขาเป็นบุคคลที่สามารถเรียกความสนใจจากทั่วโลกได้ทันทีตามแบบที่ ยานาอิ ต้องการ ยิ่งไปกว่านั้น ยอโควิช ยังบรรลุจุดหมายที่ ยานาอิ ต้องอิจฉาไปเรียบร้อยแล้ว นั่นคือ การเป็นนักเทนนิสมือวางอันดับหนึ่งของโลก
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ |
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|