ซูซูกิยืนยันพันธกิจต่ออินเดียแม้เกิดเหตุคนงานบุกทำลายโรงงานในเมืองมาเนซาร์เมื่อเดือนที่แล้ว ทำให้ผู้จัดการเสียชีวิต เหตุวุ่นวายดังกล่าวจัดว่าร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของอินเดีย มารุติ ซูซูกิ อินเดีย เจ้าของโรงงานที่เกิดเหตุ ประกาศปลดพนักงานประจำกว่า 500 คน จากทั้งหมด 1,528 คน เนื่องจากเชื่อว่าคนเหล่านั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุ ขณะที่ตำรวจอินเดียยังอยู่ระหว่างการสอบสวน
โรงงานกลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้งเมื่อวันที่ 21 ส.ค. โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยคุ้มกันอย่างเข้มงวด ผู้บริหารรายหนึ่งกล่าวว่า ตำรวจเหล่านี้จะคอยดูแลความปลอดภัยของโรงงานเป็นเวลาประมาณ 4 เดือน และบริษัทจะเลิกจ้างคนงานชั่วคราวที่โรงงานแห่งนี้
จนกระทั่งถึงตอนนี้ คนงานประมาณ 68% และซูเปอร์ไวเซอร์ประมาณ 94% กลับเข้าทำงานแล้ว และคาดว่าสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นอีกในไม่กี่วัน
โอซามุ ซูซูกิ ประธานกรรมการ ซูซูกิ มอเตอร์ กล่าวว่า เขาชี้นำให้ฝ่ายบริหารของหน่วยงานในอินเดียเข้าไปดูว่ามีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นก่อนเกิดการจลาจลที่โรงงานหรือไม่ และใช้มาตรการรับมือตามที่จำเป็น เพื่อรับประกันว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก
"ซูซูกิ ญี่ปุ่น ไม่มีแผนถอนตัวออกจากการดำเนินงานในอินเดีย และไม่คิดที่จะยุติการผลิตที่โรงงานมาเนซาร์ บริษัทต้องการคงความรักของชาวอินเดีย ด้วยการผลิตยานยนต์เพิ่มขึ้น และรักษาความสัมพันธ์อันดีกับคนเหล่านี้" ซูซูกิกล่าว
ซูซูกิ พยายามวาดภาพให้เห็นว่าชาวญี่ปุ่นมีความรู้สึกที่ดีต่ออินเดีย โดยอ้างอิงถึงเหตุการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ราธาบิน็อด ปาล ผู้พิพากษาอินเดีย เป็นคนเดียวในศาลทหารระหว่างประเทศแห่งตะวันออกไกล ที่ตัดสินว่า นักการเมืองระดับสูงและผู้นำทหาร 25 คนของญี่ปุ่น ไม่มีความผิดในการก่ออาชญากรรมสงคราม
"พลเมืองญี่ปุ่นเคารพอินเดียในฐานะประเทศประชาธิปไตย และเป็นประเทศที่ปฏิบัติตามกฎหมาย" ซูซูกิกล่าว
พร้อมกันนี้ ซูซูกิ ปฏิเสธรายงานข่าวที่ว่า การทะเลาะวิวาทระหว่างคนงานและซูเปอร์ไวเซอร์ในวันที่มีการบุกทำลายโรงงาน มีสาเหตุจากเรื่องการแบ่งแยกชนชั้น โดยยืนยันว่า โรงงานดังกล่าวไม่มีประวัติการทะเลาะเบาะแว้งเกี่ยวกับชนชั้น ทั้งคนงานและซูเปอร์ไวเซอร์ล้วนเป็นชนชั้นเดียวกัน
ด้านอาร์ ซี ภารกาวา ประธาน มารุติ ซูซูกิ กล่าวว่า แม้มีการประท้วงเกิดขึ้นในช่วงเร็วๆ นี้ แต่ผู้บริหารไม่เห็นว่ามีการโต้เถียงระหว่างคนงานและฝ่ายบริหาร ที่อาจเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรง
ด้วยเหตุนี้ ภารกาวา คาดว่า กลุ่มองค์กรจากภายนอกอาจมีบทบาทในเรื่องที่เกิดขึ้น แต่เขายอมรับว่าไม่มีหลักฐานพิสูจน์
|
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|