-
Section:
News -
-
ข่าว hot ญี่ปุ่น
พิธีปิดการแข่งขัน โอลิมปิกครั้งที่ 30 มีขึ้นภายใต้แนวคิดที่ต้องการเฉลิมฉลองปีแห่งความสำเร็จของ "ลอนดอน" แสดงให้ทั้งโลกได้เห็นวัฒนธรรม ดนตรี และ ความน่าสนใจของผู้คนสังคมในประเทศอังกฤษ โดยเพลงที่ใช้ในการแสดงนั้นเป็นเพลงที่จากศิลปินอังกฤษที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษ โดยการแสดงตลอดทั้งพิธีปิดนั้นมีอาสาสมัครเข้าร่วมแสดงมากกว่า 3,500 คนและภายใต้การแสดงทุกชุดจะมีสีและรูปแบบของธงยูเนี่ยนแจ็คอยู่ตลอดเวลา
เริ่มต้นของพิธีปิดด้วยกราฟฟิกภายในสนามพร้อมกับสรุปผลของเกมการแข่งขันในกีฬาประเภทต่างๆ จากนั้นจะเป็นภาพการแข่งขันจากระยะเวลากว่าสองสัปดาห์ของลอนดอนเกมส์ ซึ่งมีทั้งรอยยิ้มและน้ำตาของผู้ชนะและผู้แพ้
ต่อมา การแสดงที่แสดงให้เห็นถึงชีวิตตลอดทั้งวันของผู้คนในเมืองใหญ่อย่างลอนดอน นับตั้งแต่ตื่นนอนในตอนเช้า เข้าสู่ช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ไปจนถึงพระอาทิตย์ตกดิน จากนั้น เอมิลี่ ซานเด้ (Emeli Sande) จะออกมาร้องเพลง Read All About It ท่ามกลางฉากหลังที่เป็นกองหนังสือพิมพ์ขนาดมหึมาแสดงให้เห็นชีวิตของคนในลอนดอนที่อ่านหนังสือพิมพ์จนเป็นนิสัย จากนั้นจะเป็นการแสดงของกลุ่ม "Stomp" ที่จะแสดงการเคาะกับสิ่งของทุกสิ่งเพื่อให้ออกมาเป็นจังหวะดนตรี
ต่อมา เมื่อประธานในพิธีเข้าสู่สนาม พร้อมกับเพลงชาติอังกฤษ และการแสดงในชุด God Save the Queen การแสดงชุดนี้ จะแสดงให้เห็นถึงความภูมิใจในความเป็น อังกฤษ เริ่มจากการแสดงที่ เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ (แสดงโดย ทิโมธี่ย์ สปาลล์) ปรากฏตัวมาจากยอดนาฬิกา บิ๊กเบน จากนั้นธง ยูเนี่ยน แจ็ค จะปลิวสไวไปทั่วสนามระหว่างที่มีการบรรเลงเพลงชาติ God Save The Queen หลังจบเพลงธง ยูเนี่ยนแจ๊คที่ปลิวไสวอยู่กลางสนามจะรวมตัวเป็นหนึ่ง ด้วยสีแดง น้ำเงิน และ ขาวกลายเป็น ภาพศิลปะในรูปแบบ บริทิช ป็อบ อาร์ต
ต่อมาเป็นการแสดงชุด Street Party เป็นการแสดงเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบการครองราชย์ 60 ปี ของสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธ หรือที่เรียกว่า Diamondt Jubilee ตามท้องถนนจึงมีการประดับธงชาติยูเนี่ยน แจ็ค เพื่อการนี้ เริ่มต้นด้วยเสียงเพลงของ ไมเคิล เคน นักแสดงชื่อดังชาวอังกฤษ ก่อนที่จะเข้าสู่ประโยคเด็ดจากภาพยนตร์เรื่อง อิตาเลี่ยน จ็อบ "I only told you to blow the bloody door off" จากนั้นการแสดงจะเริ่มขึ้นด้วยสีสันของยวดยานอันเป็นเอกลักษณ์ของอังกฤษผสมกับลูกบอลลูนหลากสี รวมไปถึงธงชาติยูเนี่ยนแจ็ค เพื่อให้คนทั้งโลกได้รู้ว่านี่คือปีแห่งการเฉลิมฉลอง หรือ Diamond Jubilee อย่างแท้จริง ตามมาด้วยการแสดงของศิลปินนักร้องชื่อดังมากมาย อาทิ เพ็ท ช็อป บอยส์ ตำนานดูโอป็อบของอังกฤษ ตามมาด้วย วัน ไดเร็คชัน 5 หนุ่มบอยแบนด์ขวัญใจวัยรุ่นเมืองผู้ดีในเวลานี้
|
|
จากนั้นเป็นการแสดงยิมนาสติก ที่มีผู้ร่วมโชว์จำนวน 30 คน ออกมาแสดงการต่อตัวในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ก่อนเข้าสู่การแสดงที่ชื่อว่า Waterloo Sunset ที่ใช้เพลงของ เดอะ บีทเทิลส์ A Day in the Life เพลงดังในปี 1967 เป็นเพลงเปิดเพื่อให้ผู้ชมได้หวลคิดถึงวันเวลาในอดีต และปิดท้ายด้วยการแสดงของ เรย์ เดฟส์ (Ray Davies) ที่จะมาร้องเพลงฮิตในปี 1969 Waterloo Sunset โดยหลังเสร็จสิ้นการแสดง ก็ได้เข้าสู่พิธีเชิญธงชาติของชาติที่ร่วงลงแข่งขันโอลิมปิกทั้งหมดเข้าสู่สนามโอลิมปิก สเตเดียม โดยมีคณะวงดนตรี ลอนดอน ซิมโฟนีย์ ออเคสตรา รับหน้าที่บรรเลงเพลงแบ็คกราวนด์สร้างความยิ่งใหญ่ให้กับพิธีการแห่งนี้ ก่อนที่นักกีฬาจากทุกชาติ จะพร้อมใจกันเดินเข้าสนามร่วมกัน แสดงให้เห็นถึงมิตรภาพที่ไม่ได้ถูกแบ่งกั้นเพียงแต่เชื้อชาติและศาสนา
หลังนักกีฬาทุกชาติเดินทางเข้าสู่สนาม ก็ได้นำมาสู่การแสดงถัดไปที่ชื่อว่า "Here Come the Sun" การแสดงก่อนที่จะมีการมอบเหรียญรางวัลให้กับนักวิ่งมาราธอนที่เพิ่งแข่งเสร็จสิ้นไป ซึ่งประกอบด้วย สตีเฟน คีโปรติช (อูกานดา), อเบล คิรุย และ วิลสัน คีปซัง คีโปรติช จากเคนยา อันเป็นธรรมเนียมของพิธีปิดการแข่งขันโอลิมปิก จากนั้นจะเป็นการแสดงของกลุ่มนักร้องประสานเสียงในเพลง Imagine เพลงฮิตอมตะของ จอห์น เลนนอน พร้อมภาพยนตร์สั้นที่
เจ้าตัวเป็นผู้ถ่ายเก็บไว้โดยไม่มีการเผยแพร่ที่ใดมาก่อน ตามด้วย การแสดงภาพประกอบกับเสียงร้องอันทรงพลังของนักร้องชื่อดังของวง QUEEN ผู้ล่วงลับ เฟรดดี เมอร์คิวรี่ย ก่อนที่จอร์จ ไมเคิล จะออกมาร้องเพลง "Freedom" เพลงดังในยุค 90 และ "White Light" แล้วมาต่อกันด้วยขบวนสกู๊ตเตอร์ชุดใหญ่ที่ทยอยกันเข้ามาพร้อมกับวงร็อคชื่อดังจากลีดส์อย่าง ไกเซอร์ ชีฟ
|
หลังชมเพลงดังจากเกาะอังกฤษกันไปสักพัก ก็มาต่อด้วย 9 สุดยอดนางแบบชื่อดังของเกาะอังกฤษที่ขึ้นมาโชว์ลีลาเดินแบบบนแคตวอล์กย่อมๆกลางสนาม ก่อนที่ แอนนี เลนน็อกซ์ จะโผล่มาขโมยซีนด้วยโชว์น้ำเสียงในเพลง "Little Bird" บนเรือลำยักษ์ที่พาเธอเข้ามาในสนาม คั่นด้วยการแสดงของ รัสเซล แบรนด์ นักร้องและนักแสดงชื่อดัง ที่จะมาปรากฏตัวในเพลง "Pure Imagination" พร้อมกับรถตู้สีสันบาดตาบาดใจและสี่สาวนักไวโอลิน BOND ต่อมา Fatboy Slim ดีเจชื่อก้องแห่งเกาะอังกฤษ เชิญชวนให้คนในสนามลุกขึ้นมาออกสเต็ปแดนซ์ด้วย Right Here Right Now และ The Rockalfeller Shak สองเพลงฮิตของตัวเองในปี 1998 แล้วปล่อยให้ เจสซี เจ รับช่วงต่อด้วยเพลง "Price Tag" เพลงดังในปี 2011 และคัฟเวอร์เพลง You Should be Dancing ของ Bee Gees ให้ได้ออกสเต็ปกันอีกรอบ
และแล้วช่วงเวลาที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง เมื่อ 5 สาว "สไปซ์ เกิร์ลส์" เกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังที่สร้างชื่อไปทั่วโลกในอดีต ประกอบด้วย วิคตอเรีย, เอ็มมา, เจอรี, เมลบี, เมลานี กลับมารวมตัวกันอีกครั้งในโอลิมปิก จนเรียกเสียงฮือฮาไปทั่วสนาม ด้วยเพลง Wanna Be และ Spice Up Your Life ต่อกันด้วยเพลงฮิตตลอดกาลอย่าง Wonderwall จาก เลียม กัลลาเกอร์ และผองเพื่อนวง Beady Eye แม้ต้นฉบับจะเป็นของ Oasis ก็ตาม การแสดงดนตรีอันทรงอิทธิพลของเกาะอังกฤษมา
ต่อเนื่องด้วย Soundtrack จาก Electric Light Orchestra กับเพลง Mr.Blue Sky จากนั้น Eric Idle จะมาทำการแสดงในชุด Always Look on the Bright Side of Life บทเพลงที่ให้กำลังใจแฝงข้อคิดแก่ทุกคนบนโลก แม้ว่าต้องเจอกับวันที่ยากลำบากในชีวิต แต่ก็ขอให้ทุกคนมองโลกในแง่บวกและยิ้มเข้าไว้ ก่อนตัดอารมณ์เข้าสู่เพลงธีมประจำโอลิมปิกที่เต็มไปด้วยอารมณ์ฮึกเหิมและปลุกใจอย่าง Survival ของ Muse แม็ทธิว เบลลามี นักร้องนำ พรมนิ้วบนเปียโนก่อนลุกมาเกรี้ยวกราดผ่านบทเพลงร็อคสุดอลังการ
|
เพลงร็อคยังไม่จบ เมื่อมีการฉายภาพของ เฟรดดี เมอร์คิวรีย์ นักร้องผู้ยิ่งใหญ่ขึ้นมาอีกรอบ ก่อนที่เพลง We Will Rock You จะถูกบรรเลงขึ้นมาเรียกคนดูให้ปรบมือตามเสียงกลองพร้อมกับเชิญชวนให้ทุกคนช่วยกันร้องท่อนฮุคพลงอมตะเพลงนี้ และหลังฟังเพลงกันไปจุใจ ก็ได้เวลาทำพิธีเชิญธงโอลิมปิกลงจากยอดเสา ก่อนมอบให้แก่ บราซิล เจ้าภาพครั้งต่อไปในปี 2016 ที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร พร้อมกับการแสดงศิลปะของแซมบ้าให้ผู้คนทั่วโลกได้ชมก่อนเจอกันในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยมี เปเล ตำนานดาวยิงค้างฟ้าของบราซิล ร่วมแสดงด้วย ซึ่งหลังจากนั้น ลอร์ด เซบาสเตียน โค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งกรุงลอนดอน ก็ได้ขึ้นมากล่าวปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการ ก่อนที่ ฌาคส์ โรกส์ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล จะขึ้นมากล่าวปิดท้าย
หลังเสร็จสิ้นพิธีกล่าวปิดการแข่งขัน ก้านไฟโอลิมปิกที่ถูกจุดมาตลอด 14 วัน ก็ถึงเวลาแยกตัวออกจากกัน ก่อนที่ Take That บอยแบนด์รุ่นเก๋าของวงการ จะขับร้องเพลง Rule The World ให้ทุกคนร้องตามในช่วงท้าย โดยมีการจุดพลุฉลองไปทั่วสนาม และเมื่อไฟโอลิมปิกได้ถูกดับลง อันเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าการแข่งขันมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติได้ปิดฉากอย่างเป็นทางการไปแล้วนั้น THE WHO วงร็อคระดับตำนานของอังกฤษ ก็ออกมาแสดงเพลง Baba O'Riley เพลงดังของวงในปี 1971 ต่อด้วยเพลง "See Me, Feel Me" และเพลง "My Generation" เพลงดังในปี 1965 เป็นการปิดฉาก "ลอนดอนเกมส์" ด้วยความประทับใจที่จะอยู่ในความทรงจำของนักกีฬาที่ร่วมแข่งขันและผู้ชมทั่วโลก ตราบนานเท่านาน
|
ขอบคุณ ข้อมูลจากผู้จัดการออนไลน์ |
Tags: พิธีปิดลอนดอนเกมส์ | พิธีปิดโอลิมปิก2012 | โอลิมปิก2012 | โอลิมปิกอังกฤษ
แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม 2012 เวลา 10:33 น.