ไทยยังเนื้อหอมหลังน้ำลด ยอดขอรับส่งเสริมลงทุนไตรมาสแรก 2.3 แสนล้านบาท พุ่ง 106% ญี่ปุ่นยังสูงสุดขนเงินเข้าไทย ตามด้วยมาเลเซีย "เอดีบี" เพิ่มคาดการณ์จีดีพีไทยเป็น 5.5% อานิสงส์แรงกระตุ้นบริโภคในประเทศ แต่เตือนเศรษฐกิจโลกตกต่ำฟาดชิ่ง ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้รายงานภาวะการลงทุนในช่วงไตรมาสแรกปี 2555 (ม.ค.-มี.ค.) มีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีนักลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 470 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 231,100 ล้านบาท จำนวนโครงการเพิ่มขึ้น 12% มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 106% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นโครงการลงทุนที่ประสบอุทกภัยในปีที่ผ่านมา และได้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเพื่อฟื้นฟูและขยายกิจการ มูลค่ารวมประมาณ 25,000 ล้านบาท สำหรับการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI ในช่วงไตรมาสแรก ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน จำนวน 312 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 134,151 ล้านบาท จำนวนโครงการเพิ่มขึ้น 23% มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 91% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีมูลค่า 70,111 ล้านบาท ประเทศที่เข้ามาลงทุนสูงสุด ญี่ปุ่น 173 โครงการ เงินลงทุนรวม 77,982 ล้านบาท มาเลเซีย 11 โครงการ เงินลงทุนรวม 10,714 ล้านบาท สหรัฐ 17 โครงการ เงินลงทุน 9,116 ล้านบาท เนเธอร์แลนด์ 10 โครงการ เงินลงทุน 8,505 ล้านบาท ฮ่องกง 6 โครงการ เงินลงทุน 5,370 ล้านบาท นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัยเริ่มฟื้นตัวแล้ว โดยมีผู้ประกอบการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อทดแทนเครื่องจักรเดิมที่เสียหาย มูลค่ากว่า 87,000 ล้านบาท และมีผู้ยื่นขอรับส่งเสริมเพื่อฟื้นฟูและขยายกิจการแล้วรวม 37 โครงการ เงินลงทุนรวม 25,717 ล้านบาท น.ส.ลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรประจำประเทศไทย ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) กล่าวว่า เอดีบีปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP) ไทยในปี 2555 จาก 5.0% เป็น 5.5% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานปีก่อนที่ต่ำ โดยขยายตัวเพียง 0.1% จากภาวะน้ำท่วมช่วงไตรมาส 4 ทั้งนี้ อุปสงค์ในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยทดแทนการ ขยายตัวส่งออกที่คาดว่าจะเติบโตเพียง 15% โดยการขยายตัวของการบริโภคจะได้รับการสนับสนุนจากการเพิ่มเงินเดือนข้า ราชการในเดือน ม.ค. และการเพิ่มค่าจ้างแรงขั้นต่ำ 40% ในเดือน เม.ย. ประกอบกับรัฐบาลออกมาตรการจูงใจลดหย่อนภาษีบ้านหลังแรก รถคันแรก ส่งผลให้ความเชื่อมั่นการบริโภคฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่ลดลงอย่างมากในช่วงน้ำท่วมในไตรมาส 4 ปีก่อน และพบว่ายอดขายรถยนต์เริ่มปรับตัวดีขึ้นในเดือน ม.ค. และ ก.พ. หลังจากลดลงอย่างมากถึง 62% ในเดือน พ.ย.2554 “สภาพการเมืองไทยขณะนี้มีความมั่นคง เอดีบีจึงไม่ได้นำมาคิดในการประเมินจีดีพีปีนี้ ซึ่งจีดีพีจะสูงกว่าประมาณการเดิม 0.5% มาอยู่ที่ 5.5% แต่ความเสี่ยงสำคัญที่สุดต่อไทยคือเศรษฐกิจโลก เพราะการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการโตของจีดีพี ได้” น.ส.ลัษมณระบุ.
ข้อมูลจาก ไทยโพสต์ |
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|