นักวิจัยญี่ปุ่นนำใยแมงมุมหลายพันเส้นมาปั่นรวมกันทำเป็นสาย ไวโอลิน ซึ่งผู้วิจัยกล่าวว่าสายไวโอลินจากใยแมงมุมจะให้เสียงที่นุ่มลึกมากกว่าสาย ไวโอลินปัจจุบันที่ทำจากเหล็ก คณะผู้วิจัยเผยว่า สาเหตุดังกล่าวอาจเกิดจากวิธีการนำใยแมงมุมมาปั่นรวมกัน ที่เป็นผลทำให้โครงสร้างการยึดตัวเกิดความแน่นกว่าสายไวโอลินปกติ เนื่องจากแทบไม่มีช่องว่างเกิดขึ้นระหว่างใยแต่ละเส้น โดยผลการวิจัยทั้งหมดจะถูกนำมาเผยแพร่ผ่านวาราสารฟิสิคอล รีวิว เล็ตเตอร์ส ที่จะตีพิมพ์เร็วๆ นี้ ดร.ชิเกโยชิ โอซากิ จากมหาวิทยาลัยนารา เมดิคอล ของญี่ปุ่น กล่าวว่า เขาสนใจลักษณะทางกลศาสตร์ของใยแมงมุมมานานหลายปีแล้ว และได้ศึกษาเส้นใยที่แมงมุมปล่อยออกมา โดยการวัดความแข็งแรงของมัน ที่เคยตีพิมพ์ผ่านวารสารโพลิเมอร์ เจอร์นัล เมื่อปี 2007 ล่าสุด เขาสามารถหาวิธีที่จะได้เส้นใยจำนวนมากจากแมงมุมที่เลี้ยงไว้ ดร.โอซากิ ใช้แมงมุมเพศเมียพันธุ์เนฟิลา มาคูลาตา (Nephila maculata) ที่เขาเพาะเลี้ยงขึ้นเอง จำนวน 300 ตัว ซึ่งเป็นพันธุ์หนึ่งที่มีชื่อเสียงในการชักใยที่ซับซ้อนและสวยงาม เขาใช้ใยแมงมุม 3,000-5,000 เส้นมัดรวมไปในทิศทางเดียวกันและนำเส้นใยที่มัดรวมกันนี้ 3 เส้นมาถักเป็นเกลียวเข้าด้วยกันในแบบทิศทางตรงกันข้าม หลังจากนั้นจึงนำมาทดสอบความเครียดของสายไวโอลินเพื่อดูโอกาสที่จะขาดขณะ แสดงดนตรี แต่พบว่าสายไวโอลินที่ทำจากใยแมงมุมสามารถทนความเครียดได้น้อยกว่าสายเอ็น แต่ดีกว่าสายอาบอะลูมิเนียมและไนลอน สายไวโอลินที่ทำจากใยแมงมุมนอกจากจะมีความเหนียวแล้ว ยังให้เสียงที่แปลกแตกต่างไปอีกด้วย นักเล่นไวโอลินมืออาชีพหลายคนที่ทดลองใช้สายไวโอลินชนิดนี้บอกว่าได้เสียง ที่น่าพอใจ สามารถสร้างสรรค์งานเพลงใหม่ได้
ข้อมูลจาก มติชน ออนไลน์ |
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|