เอเอฟพี/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์- ชาร์ป คอร์ปอเรชัน ยักษ์ใหญ่แห่งวงการอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นแถลงในวันพุธ (6) ว่า ทางบริษัทได้บรรลุข้อตกลงมูลค่า 111 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3,300 ล้านบาท) ยอมร่วมทุนกับค่ายซัมซุง คู่แข่งสำคัญจากเกาหลีใต้ ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่ตอกย้ำถึงภาวะอันย่ำแย่ของผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า รายใหญ่แห่งแดนปลาดิบ ชาร์ปซึ่งก่อตั้งกิจการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1912 และมีฐานอยู่ที่นครโอซาก้า กำลังใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อแก้ปัญหารายได้ที่ลดฮวบจากยอดขายที่ตกต่ำ ต่อเนื่อง และเป็นที่คาดว่า การทำข้อตกลงกับซัมซุงจากเกาหลีใต้ในครั้งนี้จะส่งผลให้ชาร์ปต้องยอมขายหุ้น ของตนจำนวน 3 เปอร์เซ็นต์ให้แก่ซัมซุง คิดเป็นวงเงินราว 111 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ10,400 ล้านเยน (ราว 3,300 ล้านบาท) เป็นการแลกเปลี่ยน ส่งผลให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตจากแดนกิมจิ จะกลายเป็น “ผู้ถือหุ้นต่างชาติรายใหญ่ที่สุด” ของชาร์ปทันที หลังข่าวลือการบรรลุข้อตกลงระหว่างชาร์ปกับซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์แพร่สะพัดออกไปราคาหุ้นของชาร์ปได้ปรับตัวพุ่งสูงขึ้นมากกว่า 17 เปอร์เซ็นต์ ก่อนจะปิดตลาดด้วยการปรับตัวเพิ่มขึ้น 14.04 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่หุ้นของซัมซุงปรับเพิ่มขึ้น 0.65 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ข้อตกลงอย่างเป็นทางการเพิ่งมีการประกาศออกมาหลังจากที่ตลาดหุ้นที่ กรุงโตเกียวและกรุงโซลปิดทำการไปแล้ว คำแถลงของชาร์ประบุว่า ข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์นี้จะช่วยแก้ปัญหาทางด้านการเงินให้แก่บริษัทได้ เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันทั้งชาร์ปและซัมซุงก็จะได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ในการนำเอาเทคโนโลยีจอภาพแบบแอลซีดีของชาร์ปไปประยุกต์ใช้กับโทรศัพท์สมาร์ท โฟน และแท็บเล็ตของซัมซุง ฮิโรชิ ซากาอิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ จากศูนย์วิจัยเอสเอ็มบีซี เฟรนด์ ในเครือ “ซูมิโตโม มิตซุย ไฟแนนเชียล กรุ๊ป” ออกมาให้ความเห็นว่า การตัดสินใจยอมรับการอัดฉีดเงินทุนจากบริษัทต่างชาติ ส่งสัญญาณถึงสถานะภายในของชาร์ปและบริษัทผู้ผลิตรายอื่นๆของญี่ปุ่นที่ ย่ำแย่อย่างหนัก และปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อตกลงที่เกิดขึ้นจะยิ่งไปเสริมความแข็งแกร่งและตอกย้ำ ความเป็น “เบอร์ 1”ของซัมซุงในตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลกให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นไปอีก และยังช่วยให้ซัมซุงประหยัดเงินได้เป็นจำนวนมากจากการที่ไม่ต้องลงทุนสร้าง โรงงานแห่งใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า มีแนวโน้มที่บรรดาผู้ผลิตในญี่ปุ่นจะต้องยอมทำข้อตกลงในลักษณะเช่นนี้ กับบริษัทต่างชาติเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้องค์กรอยู่รอด อย่างไรก็ดี เป็นที่คาดกันว่า ข้อตกลงเพื่อรับการอัดฉีดเงินทุนจากซัมซุงครั้งนี้ อาจไม่สามารถแก้ปัญหาทางการเงินของชาร์ปได้มากนัก หลังจากมีการเปิดเผยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่า ชาร์ปประสบภาวะขาดทุนในช่วง 9 เดือนระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคมปี 2012 เพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 4,600 ล้านดอลลาร์ หรือ429,442 ล้านเยน (ราว136,792 ล้านบาท) ทั้งนี้ บรรดายักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นทั้ง ชาร์ป โซนี และพานาโซนิค ต่างต้องเผชิญหลายปัญหาที่รุมเร้าไม่แตกต่างกันในช่วงที่ผ่านมา ทั้งยอดขายที่ตกต่ำลงในตลาดส่งออกสำคัญ ค่าเงินเยนที่แข็ง การแข่งขันอย่างดุเดือดโดยเฉพาะในตลาดโทรทัศน์ รวมถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ทางการตลาดที่ผิดพลาด จนกระทบกับรายได้และความอยู่รอดขององค์กร
ข้อมูลจาก ผู้จัดการ ออนไลน์
|
Tags: ชาร์ป | บริษัทญี่ปุ่น | ร่วมธุรกิจ | อิเล็กทรอนิกส์