อาเซียนจะเปิดเจรจาในวันอังคาร(20)นี้ เพื่อก่อตั้งเขตการค้าขนาดยักษ์ กับจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และชาติเพื่อนบ้านอื่นๆ ครอบคลุม 16 ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก และถือเป็นเขตการค้าเสรีนอกกรอบข้อตกลง WTO ที่ใหญ่ที่สุดของโลก ทั้งนี้ เพื่อลดการพึ่งพิงตะวันตกที่กำลังสะบักสะบอมกับวิกฤตหนี้ และเป็น “ตัวถ่วงดุล” กรอบโครง TPP ที่มีอเมริกาเป็นแกนนำ
ราจีฟ บิสวอส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำเอเชีย-แปซิฟิกของ ไอเอชเอส โกลบัล อินไซต์ อธิบายว่า แผนการริเริ่มนี้มีความสำคัญมากต่อเอเชีย-แปซิฟิกในเชิงยุทธศาสตร์ เนื่องจากสามารถชดเชยความอ่อนแอที่มาจากทางอเมริกาและสหภาพยุโรป (อียู)
“ข้อตกลงนี้สามารถกลายเป็นกรอบโครงสำหรับเร่งรัดการค้าและการไหลเวียนของการลงทุนภายในภูมิภาค ลดการพึ่งพิงตลาดส่งออกดั้งเดิมคืออียูและอเมริกา และส่งเสริมการค้าในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย" บิสวอสอธิบาย
สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ให้สัมภาษณ์เมื่อวันอาทิตย์ (18) ระหว่างการประชุมผู้นำอาเซียนว่า ความสำเร็จของ RCEP จะยิ่งหนุนส่งการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจเศรษฐกิจโลกจากตะวันตกมาสู่เอเชีย
ด้านนักการทูตและนักวิเคราะห์ชี้ว่า RCEP จะเป็นตัวถ่วงดุล “ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement หรือ TPP) ซึ่งเป็นกลุ่มการค้าเสรีที่อยู่ระหว่างการเจรจา โดยมีอเมริกาเป็นแม่งานและประกอบด้วยประเทศอื่นๆ อีก 10 ประเทศ เจ้าหน้าที่อเมริกันคาดหวังว่า TPP จะนำไปสู่เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิกที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจละตินอเมริกากับเอเชียโดยมีสหรัฐฯเป็นตัวกลางหนึ่งในข้อแตกต่างสำคัญระหว่าง TPP กับ RCEP ก็คือ TPP ไม่รวมจีน ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก ขณะที่ใน RCEP นั้น คาดกันว่าจีนจะเป็นผู้เล่นสำคัญ อีกทั้งตามแนวคิดเวลานี้ก็จะไม่รวมสหรัฐฯเข้าไว้ด้วย
จีนนั้นแสดงความลังเลที่จะเข้าร่วม TPP แต่ต้องการมุ่งเน้นข้อตกลงการค้าเสรีที่มีศูนย์กลางในเอเชียที่ตนมีอิทธิพลอยู่มากกว่า
รัฐมนตรีพาณิชย์ กิตา วิรจาวัน ของอินโดนีเซีย กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่พนมเปญ กระนั้น มีความกังวลกันว่า ข้อพิพาทเกี่ยวกับการอ้างอธิปไตยเหนือดินแดนในทะเล ระหว่างผู้เล่นสำคัญๆ ใน RCEP อาจเป็นอุปสรรคขัดขวางการเจรจาทำข้อตกลงนี้
ทว่า สุรินทร์มองว่า สามารถที่จะแยกข้อพิพาทเหล่านั้นออกไปจัดการต่างหากจากประเด็นทางการค้า และแนวโน้มของความร่วมมือทางเศรษฐกิจ รวมถึงการสร้างประชาคมในเอเชียตะวันออก เป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรจะมาหยุดยั้งได้ เนื่องจากทุกชาติจะได้ประโยชน์จากโครงสร้างความร่วมมือใหม่นี้
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์ |
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|