เอเอฟพี - ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปลดปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นหลัง เกิดวิกฤตนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้า ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ซึงอาจส่งผลให้รัฐบาลประสบปัญหาในการลดคาร์บอนให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ รายงานเผยวานนี้ แนวโน้มคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถ ปฏิบัติตามเงื่อนไขในพิธีสารเกียวโต ซึ่งกำหนดให้ญี่ปุ่นต้องลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนลง 6 เปอร์เซ็นต์จากระดับเมื่อปี 1990 ภายในปี 2008-2012 หนังสือพิมพ์ธุรกิจ นิกเกอิ รายงาน ปริมาณคาร์บอนที่ถูกปล่อยจากโรงงานของผู้ผลิตชั้นนำ 399 ราย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 0.2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และภายในเดือนมีนาคมปีนี้อาจสูงถึง 388 ล้านตัน ซึ่งถือว่าเพิ่มติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมทุกประเภทของญี่ปุ่น โดยไม่รวมภาคพลังงานและก๊าซ จะสูงถึง 442 ล้านตัน ซึ่งเกือบเทียบเท่าสถิติของปีงบประมาณ 2010 กิจกรรมทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นซบเซาลงทันทีหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวและ สึนามิถล่มชายฝั่งตะวันออก เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปี 2011 หลังจากนั้นยังเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในไทย ซึ่งส่งผลให้บริษัทญี่ปุ่นที่มาตั้งฐานการผลิตที่นี่ได้รับความเสียหายอย่าง หนัก การสั่งปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นส่งผลให้การปลดปล่อยก๊าซ เรือนกระจกเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตต้องหันมาใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าของตนเอง เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีไฟฟ้าสำรองเพียงพอสำหรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม นิกเกอิ ระบุ การสรรหาทรัพยากรเพื่อผลิตไฟฟ้าในรูปแบบอื่นๆ เช่น พลังงานความร้อน ยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้นด้วย ปัญหาดังกล่าวอาจทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น หลังจากที่ญี่ปุ่นสั่งปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วประเทศในเดือนเมษายนนี้
ข้อมูลจาก ผู้จัดการ ออนไลน์
|
Tags: ก๊าซเรือนกระจก | ข่าวญี่ปุ่น | นิวเคลียร์ | มลพิษ | โรงไฟฟ้านิวเคลียร์