สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยอีกครั้งสำหรับนักศึกษาคนเก่ง จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาลัยรัตภูมิ และมหาวิทยาลัยมหิดล เยาวชนไทยที่เข้าร่วมแข่งขันการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ ครั้งที่ 23 “International Design Contest 2012” (IDC RoBoCon 2012) ณ มหาวิทยาลัยโตเกียว เดนกิ ประเทศญี่ปุ่น ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งสามารถคว้ารางวัล ออกแบบยอดเยี่ยม Best Design Award โชว์ทักษะการออกแบบหุ่นยนต์ดีจนเข้าตากรรมการจากนานาชาติ |
นางสาวสาธิมา ประเสริฐเจริญสุข |
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ในฐานะประธานจัดการแข่งขัน RDC 2012 กล่าวว่า “ปีนี้ได้ส่งเยาวชนทีมชนะเลิศจากเวทีการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย (RDC 2012) ประกอบด้วย น.ส.สาธิมา ประเสริฐเจริญสุข มหาวิทยาลัยมหิดล, นายอุหมาด หีมโป๊ะหมอ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาลัยรัตภูมิ, นายกานต์ไกร จิตรหมั่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นายอภิวิชญ์ พวงศรีเจริญ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายบรรณวิชญ์ ติยะบวรวงศ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ไปร่วมแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นระดับนานาชาติ “International Design Contest 2012” ครั้งที่ 23 (IDC RoBoCon 2012) ที่ประเทศญี่ปุ่น |
นายอุหมาด หีมโป๊ะหมอ |
โดยปีนี้นักศึกษาไทยสามารถคว้ารางวัลมาได้ 2 รางวัล คือ รางวัลออกแบบยอดเยี่ยม (Best Design Award) จากนายอุหมาด หีมโป๊ะหมอ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาลัยรัตภูมิ และรางวัล Best Haiku in English Version Award จาก นางสาวสาธิมา ประเสริฐเจริญสุข มหาวิทยาลัยมหิดล
ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้มีนักศึกษาเข้าร่วมทั้งหมด 56 คน จาก 8 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา, บราซิล, เกาหลี, ฝรั่งเศส, จีน, สิงคโปร์ และไทย โดยทำการจับสลากคละนักศึกษา แบ่งเป็น 12 ทีม รวม 4 สาย และแข่งขันกันเพื่อหาตัวแทน 4 ทีมสุดท้ายเพื่อหาทีมชนะเลิศ
ภายใต้โจทย์หัวข้อ : Haiku Master- Creative Journey มีที่มาจากโคลงไฮกุ ที่มีชื่อเสียงที่สุดบทหนึ่งของญี่ปุ่น นำมาประยุกต์กับการแข่งขันโดยต้องนำเทคโนโลยีและศาสตร์ทางด้านศิลปะเข้ามาผสมผสานกัน
|
นักศึกษาทุกทีมต้องทำภารกิจนำลูกบอลไปวางและเรียงที่กำแพง คล้ายกับการวางอักษรแต่ละวรรคของโคลงไฮกุ ยิ่งสอดคล้องและสัมพันธ์กันจะทำคะแนนได้มากที่สุด โดยต้องทำ 2 ภารกิจโคลงไฮกุ ทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่น และสร้างและออกแบบหุ่นยนต์ จำนวน 2 ตัวใน 1 ทีม ซึ่งเยาวชนไทยทุกคนได้แสดงออกถึงความสามารถและทักษะในการทำงานร่วมกับเพื่อนต่างชาติได้เป็นอย่างดี จนสามารถคว้ารางวัลดังกล่าวมาได้ |
นายอุหมาด หีมโป๊ะหมอ หรือน้องมาร์ด จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาลัยรัตภูมิ เจ้าของรางวัลออกแบบยอดเยี่ยม (Best Design Award) เล่าถึงประสบการณ์ครั้งนี้ว่า เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เดินทางมาแข่งขันต่างประเทศ และต้องทำงานร่วมกับเพื่อนต่างชาติ เพื่อนในทีมมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา จีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น แม้ช่วงแรกจะลำบากในการสื่อสาร แต่เราทุกคนก็พยายามปรับตัวจนสามารถทำงานร่วมกันได้ โดยเราทุกคนต่างแลกเปลี่ยนความคิดและแบ่งงานกันทำ พยายามออกแบบหุ่นยนต์ให้มีความคงทน เคลื่อนที่ได้รวดเร็ว ควบคุมง่าย และต้องขึ้นลงเนินได้อย่างสะดวก ซึ่งหุ่นยนต์ของเราออกมาสมบูรณ์แบบ แม้จะได้รางวัลอันดับที่ 4 ในการแข่งขัน แต่การได้รับรางวัลออกแบบยอดเยี่ยม ทำให้ภูมิใจมากเพราะหุ่นยนต์จะทำงานได้ดีนั้น การออกแบบถือเป็นสิ่งสำคัญ ส่วน นางสาวสาธิมา ประเสริฐเจริญสุข หรือน้องเค จากมหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของรางวัล Best Haiku in English version Award เล่าถึงความประทับใจครั้งนี้ว่า ไม่เคยเล่นโคลงไฮกุมาก่อน แต่เพื่อนๆ ในทีมก็ช่วยกันจนสามารถชนะได้รางวัลนี้มาก็ภูมิใจมากเช่นกัน แม้ช่วงแรกจะมีปัญหาด้านการสื่อสารกว่าจะเข้าใจกันได้ก็เสียเวลาไปเยอะแต่ก็ผ่านมาได้ ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ |
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|