นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า ใบหม่อน นอกจากใช้เป็นอาหารของหนอนไหม เพื่อให้สร้างเส้นใยไว้ทอผ้าแล้ว จากการวิจัยของกรมหม่อนไหมยังพบว่า ใบหม่อนมีสรรพคุณเป็นสมุนไพร และอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ เช่น มีสารดีเอ็นเจ (DNJ :1-deoxynojirimycin) ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด มีสารกาบา (GABA : Gamma Amino Butyric Acid) ช่วยลดความดันโลหิต และบำรุงสมอง อีกทั้งยังพบกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบทุกชนิด จึงมีการนำมาผลิตเป็นชาใบหม่อน ซึ่งปัจจุบันชาใบหม่อนของไทยมีการผลิตแบบอุตสาหกรรมครัวเรือน โดยกลุ่มเกษตรกรต่างๆ ทั่วประเทศ ประมาณ 30 กลุ่ม เพื่อจำหน่ายภายในประเทศ และการผลิตแบบอุตสาหกรรมโรงงานอีก 4 แห่ง ที่จังหวัดนครราชสีมา กาญจนบุรี 2 แห่ง และเชียงราย เพื่อการส่งออกและจำหน่ายภายในประเทศ สำหรับประเทศคู่ค้าชาใบหม่อนที่สำคัญของไทย คือ ญี่ปุ่น ซึ่งรู้จักคุณค่าและประโยชน์ของใบหม่อนมาอย่างยาวนาน และเชื่อมั่นในมาตรฐานการผลิตของไทย โดยนำเข้าชาใบหม่อนจากประเทศไทย ปีละประมาณ 100 ตัน และเมื่อปีที่ผ่านมาญี่ปุ่นมีความต้องการชาใบหม่อนมากขึ้นอีก 1 เท่าตัว เป็น 200 ตัน ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีของเกษตรกรที่มีพื้นที่อยู่ในจังหวัดที่มีโรงงาน ผลิตชาใบหม่อนตั้งอยู่ หรือจังหวัดใกล้เคียงที่สนใจจะปลูกหม่อนเพื่อจำหน่ายใบให้กับโรงงานดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าไร่ละ 10,000 หรือ 20,000 บาทต่อปี ในเขตชลประทาน หรือพื้นที่ที่สามารถให้น้ำแปลงหม่อนได้ เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจการปลูกหม่อนสามารถสอบถาม ติดต่อได้ที่ กรมหม่อนไหม โทร 0-2558-7948, 0-2558-7924-6 ต่อ 401 หรือศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้ง 21 แห่งทั่วประเทศ.
ข้อมูลจาก เดลินิวส์ |
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|