ถ้าพูดถึงตุ๊กตาไล่ฝน เด็กสมัยนี้อาจจะนึกภาพไม่ออก แต่ถ้าเป็นรุ่นก่อนๆ ที่อายุประมาณ 28 up ขึ้นไป อาจารย์เชื่อว่าคนไทยหลายๆคนคงนึกภาพ ตุ๊กตาไล่ฝนในการ์ตูนเรื่อง“อิคคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา”ขึ้นมาเป็นแน่ ตุ๊กตาไล่ฝนนั้น ได้รับความนิยมในญี่ปุ่นมาตั้งแต่อดีต มาจนถึงในยุคปัจจุบันนี้เลยนะครับ
ตุ๊กตาไล่ฝนในภาษาญี่ปุ่น จะมีชื่อเรียกว่า 照る照る坊主 (teru teru bozu) ถ้าเรามาแยกคำศัพท์กันจะได้ดังนี้นะครับ คือ มาจากกริยา V1 (ในตัวที่ยกเว้น ถึงแม้มีเสียง え+るก็ตามยังถือว่าเป็น V1) โดยมีความหมายว่า ส่องแสง, สว่างช่วงโชติ ส่วนคำว่า坊主 จะมีความหมายว่า พระสงฆ์ หรือหมายถึง หัวโล้น ดังนั้น คำว่า照る照る坊主 จึงมาจากรากศัพท์ที่หมายถึง หัวโล้นๆที่ส่องแสง จึงมีความหมายว่า ตุ๊กตาไล่ฝน นั่นเองนะครับ ตุ๊กตาไล่ฝนเป็นตุ๊กตาพื้นบ้านแบบหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นที่ปรากฏเห็นได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นในชนบทหรือใจกลางของเมืองหลวง เราก็จะมักเห็นตุ๊กตาตัวถูกผูกห้อยแขวนไว้กับชายหลังคาบ้านหรือแขวนประดับไว้บนขอบ หน้าต่างหรือบนกิ่งไม้ ทั้งๆที่มันมีรูปร่างที่แสนจะเรียบง่ายธรรมดา ทำขึ้นง่ายๆด้วยเศษผ้าหรือกระดาษสีขาว หรือ กระดาษทิชชู่ แต่ไม่น่าเชื่อว่า ตุ๊กตาที่สุดแสนจะธรรมดานี้ กลับมีอิทธิพลต่อคติความเชื่อของชาวญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน คนญี่ปุ่นมีความเชื่อว่า เชื่อกันว่า หากแขวนมันไว้ จะทำให้รุ่งขึ้นของวันพรุ่งนี้ ท้องฟ้าจะปลอดโปร่งแจ่มใส
ลักษณะของตุ๊กตาไล่ฝน(teru teru bozu) มีขนาดเล็กประมาณ 5 -8 นิ้ว สร้างขึ้นด้วยวิธีง่ายๆได้หลากหลายวิธี โดยส่วนใหญ่แล้วนิยมใช้ผ้าหรือกระดาษสีขาวมาตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แล้วหาวัสดุทรงกลมหรือใยฝ้ายมาทำเป็นส่วนศีรษะ ม้วนขึ้นเป็นก้อนกลมบรรจุไว้ตรงกลาง จากนั้นก็จะรวบผ้าเข้าหากันแล้วผูกด้วยเส้นเชือกหรือเส้นด้าย ต่อมาจึงค่อยวาดรายละเอียดในส่วนศีรษะ เช่น ดวงตา จมูก และ ปาก ด้วยพู่กัน ถ้าเป็นคนญี่ปุ่นโบราณ แต่ถ้าเป็นคนปัจจุบัน ก็จะวาดด้วยเมจิก หรือปากกาง่ายๆ โดยก่อนที่จะนำไปห้อยแขวนไว้กับชายหลังคาบ้านหรือริมขอบหน้าต่าง จะต้องตั้งจิตอธิษฐานขอพรให้วันรุ่งขึ้นมีท้องฟ้าที่ปลอดโปร่งแจ่มใส คติความเชื่อแบบนี้ จึงเป็นที่นิยมมากของชาวไร่ชาวนาที่ต้องไปหว่านข้าวไถนาในยามที่ท้องฟ้า อากาศสดใส ในขณะที่เด็กๆก็จะชอบอกชอบใจ เพราะหากเช้าวันพรุ่งนี้ไม่มีฝนตก จะทำให้พวกเด็กๆสามารถเดินทางไปทัศนะศึกษา แข่งขันกีฬา ไปโรงเรียน รวมไปถึงการได้ไปท่องเที่ยวกับครอบครัวได้อย่างมีความสุข
ประวัติที่มาของ ตุ๊กตาไล่ฝนของญี่ปุ่นนั้น กล่าวกันว่าสร้างขึ้นในสมัยเอโดะ หรือประมาณ 400 ปีก่อน สันนิษฐานว่าความเชื่อเรื่องตุ๊กตาไล่ฝน ได้รับอิทธิพลแบบอย่างมาจาก ตุ๊กตาเซ่าฉิงเหนียง (掃晴娘) ของประเทศจีน มีความหมายว่า “หญิงสาวผู้ขจัดเมฆฝน” นอกจากการทำตุ๊กตาไล่ฝนแบบทั่วไปแล้ว คนญี่ปุ่นยังประยุกต์ทำตุ๊กตาไล่ฝนในลักษณะอื่นๆมากมาย เช่น การทำเป้นที่ห้อยมือถือ ห้อยกระเป๋า หรือแม้แต่ทำเป็นข้าวกล่อง 弁当(Bento) ซึ่งเด็กๆชาวญี่ปุ่นก็มีความเชื่อกันว่า ถ้ากินข้าวกล่องที่มีรูป ตุ๊กตาไล่ฝนแล้ว ก็จะทำให้อากาศแจ่มใสนั่นเอง
ภาพของตุ๊กตาไล่ฝนสำหรับคนไทยจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกคุ้นตา ทั้งนี้เป็นเพราะว่า ตุ๊กตาไล่ฝนได้ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง “อิคคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา”(一休さ) ฉากภาพตุ๊กตาไล่ฝนเป็นเสมือนตัวแทนของแม่ที่อิคคิวได้แขวนไว้กับกิ่งไม้ เพื่อเป็นตัวแทนความรักความผูกพันที่ใช้ดูต่างหน้าแทนแม่ที่อยู่ห่างไกล โดยจะมีเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ชื่อยาโยยจัง มาแขวนไว้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วชาวไทยจะจดจำภาพของตุ๊กตาไล่ฝนได้เป็นอย่างดี เพราะมีปรากฏอยู่ในเนื้อเรื่องและช่วงเพลงจบของภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องนี้ นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นยังมีคติความเชื่อแปลกๆที่น่าสนุกและน่าสนใจอย่างยิ่งเกี่ยวกับตุ๊กตาไล่ฝนก็คือ หากตั้งจิตขอพรแล้ววันรุ่งขึ้นท้องฟ้าปลอดโปร่งแจ่มใส จะแขวนไว้ในลักษณะปรกติ แต่ถ้าหากวันใดอยากให้มีฝนตกหนักล่ะก็ ให้เอาตุ๊กตาไล่ฝนห้อยกลับหัวลง (บ้างก็เอาสีดำมาป้ายบนศีรษะ) เพียงเท่านี้ก็จะทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของมันหายไป ฝนก็จะได้ตกลงหนักๆ แทนที่ บางคนที่อยากให้ฝนตกหนัก ก็มาทำวิธีดังกล่าวแทนนะครับ
ไม่ว่าความเชื่อเรื่องตุ๊กตาไล่ฝนจะดลบันดาลให้สัมฤทธิ์ผลหรือไม่ก็ตาม แต่สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว ความเชื่อในเรื่องตุ๊กตาไล่ฝน ก็ยังติดอยู่ในใจของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ก็ตาม โดยจะเห็นได้ชัดเจนในกลุ่มวัยรุ่นญี่ปุ่น ไม่ว่าจะมีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าไปแค่ไหน แต่ถ้าวันไหนเขามีแข่งกีฬา หรือมีนัดสำคัญ อย่างเช่น นัดเดทแล้วละก็ เราจะได้เห็นข้างหน้าต่างมีตุ๊กตาไล่ฝนแขวนเอาไว้กันเป็นประจำ สิ่งนี้ทำให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานเท่าไร ตุ๊กตาไล่ฝนก็ยังคงเป็นความเชื่อที่อยู่กับคนญี่ปุ่นตลอดไป เนื้อเรื่องโดย อาจารย์แบงค์ ภาพ โดย ทีมงานโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นอาจารย์แบงค์ www.ajarnbank.com |
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|