วันนี้ ทีมงานโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นอาจารย์แบงค์ จะพาไปเจาะลึกประวัติของคาราโอเกะ และไปดูกันนะคะว่าคาราโอเกะในญี่ปุ่น และที่ไทยแตกต่างกันยังไง จะเหมือนหรือต่างกันเยอะไหมลองไปดูกันเลยคะ คาราโอเกะ (「カラオケ」, Karaoke, — คะระโอะเกะ) เป็นความบันเทิงชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในรูปแบบของเพลง ที่ไม่มีเสียงร้องของศิลปิน แล้วให้เราร้องผ่านไมโครโฟน โดยเสียงของศิลปินตัวจริงจะถูกปิดเอาไว้ โดยมีเนื้อเพลงขึ้นมาแสดง บ้างครั้งยังมีการเปลี่ยนสีเพื่อทำให้เข้าจังหวะกับเพลงบนมิวสิควีดิโอ ช่วยในการร้องเดี่ยว คาราโอเกะเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมสูง โดยเริ่มต้นจากในประเทศญี่ปุ่น จากนั้นก็แพร่หลายไปยังส่วนอื่นๆ ของเอเชียตะวันออก อย่างน้อยก็ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 และนับจากนั้นก็แพร่หลายไปยังส่วนอื่นๆ ของโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย คาราโอกะได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในแต่ละชาติ ซึ่งมีความแตกต่างกันไป ในประเทศไทย พบได้สองรูปแบบ ได้แก่ 1.วีดิโอซีดี (VCD) มักพบได้ตามร้านขายเพลงทั่วไป ออกโดยเจ้าของลิขสิทธิ์เพลง หรือ ค่ายเพลง ปัจจุบันพบว่า มักมีคำออกเสียงภาษาอังกฤษ ใต้คำภาษาไทย 2.มิดิ (MIDI) อยู่ในรูปแบบของซอร์ฟแวร์ นิคคาราโอเกะ ที่มีเพลงอยู่มากมาย ที่มาของคำในภาษาญี่ปุ่น คำว่า คาราโอเกะ (カラオケ) มาจากคำว่า "คาระ" (空 หรือ カラ) หมายถึง ว่างเปล่า เช่น คาระเต หรือที่รู้จักในชื่อ คาราเต้ คือ การต่อสู้ด้วยมือเปล่า และ "โอเกะ" (オーケ) ซึ่งย่อจากคำว่า "โอเกะซุโตะระ" (オーケストラ) หมายถึง วงออร์เคสตร้า คำว่า "คาราโอเกะ" จึงมีความหมายว่า "วงออร์เคสตร้าเปล่าๆ" คำนี้ถูกใช้เป็นศัพท์สแลงด้านสื่อ เมื่อการบรรเลงสดถูกแทนที่ด้วยดนตรีที่บันทึกเอาไว้ก่อน และเขียนเป็นตัวอักษรคะตะคะนะ คำว่า "คาราโอเกะ" ยังตีความได้ว่า "วงออร์เคสตร้าเสมือนจริง" เพราะคนคนเดียวก็สามารถควบคุมดนตรีและเริ่มต้นร้องไปได้โดยไม่ต้องมีวงดนตรี จริงๆ ในสหรัฐอเมริกานั้น มักจะเรียกเพี้ยนเป็น "คาริโอกี" ส่วนในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "คะระโอะเขะ" ประวัติ ในญี่ปุ่นนั้นก็เหมือนกับในที่อื่นๆ ทั่วโลก ที่มีความนิยมมาช้านานที่จะมีการเล่นดนตรีในช่วงอาหารค่ำ หรืองานปาร์ตี้ โดยปกติ ธรรมเนียมดังกล่าวปรากฏในปกรณัมญี่ปุ่นสมัย แรกสุด นับเป็นเวลานานมาแล้ว ที่การร้องและการเต้นรำถือเป็นหนึ่งในความบันเทิงของผู้ใหญ่ในพื้นที่ชนบท มีการเล่นละครโน ในปาร์ตี้น้ำชา โดยเชิญแขกให้มาร่วมชมและร้องชมเชยการแสดง การร้องเพลงและเต้นรำยังเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในหมู่ซามูไรด้วย ทั้งนี้คาดว่าซามูไรทุกคนจะสามารถเต้นรำหรือร้องเพลงได้ ในสมัยไทโชของญี่ปุ่น ร้านอุตะโคะเอะ คิซซา (หมายถึง ร้านกาแฟร้องเพลง) เริ่มเป็นที่นิยมและลูกค้าจะร้องไปกับวงดนตรีที่บรรเลงกันสดๆ
อุตสาหกรรมคาราโอเกะนั้นเริ่มต้นในญี่ปุ่นเมื่อต้นทศวรรษ 1970 เมื่อนักร้องคนหนึ่ง ชื่อ ไดซุเกะ อินุอะเอะ ได้รับคำร้องขอจากแขกอยู่บ่อยๆ ในร้านอุตะโกะเอะ คิซซา ที่เขาไปแสดงดนตรีนั้น ให้ไปบันทึกการแสดง พวกเขาจึงร้องเพลงไปด้วยในช่วงวนหยุดของ เมื่อทราบความต้องการของตลาด เขาจึงทำเครื่องบันทึกเทปที่เล่นเพลงได้เมื่อหยอดเหรียญ 100 เยน นี่คือเครื่องคาราโอเกะเครื่องแรก แต่แทนที่เขาจะขายเครื่องคาราเกะ เขากลับให้เช่าแทน ทำให้ร้านต่างๆ ไม่ต้องซื้อเพลงใหม่ๆ เป็นของตัวเอง ในช่วงแรกๆ นั้นราคาค่าหยอดตู้คาราโอเกะนับว่าแพงพอสมควร เงิน 100 เยนนั้นพอที่จะซื้ออาหารกลางวันได้ถึง 2 ที่ แต่ไม่นานต่อมาคาราโอเกะก็กลายเป็นความบันเทิงยอดนิยมไปแล้ว เครื่องคาราโอเกะมีบริการในร้านอาหาร ห้องต่างๆ ของโรงแรม และไม่ช้าก็เปิดธุรกิจใหม่ คือ ร้านคาราโอเกะ Karaoke Box ที่มีห้องขนาดเล็ก พร้อมด้วยเครื่องคาราโอเกะให้บริการ ซึ่งเป็นที่นิยมในเวลาไม่นานนัก ในปี 2004 นั้น นายไดซุเกะ อินุอะเอะ ได้รับรางวัลอิกโนเบลสาขาสันติภาพ ในฐานะผู้คิดค้นระบบคาราโอเกะขึ้น "นับเป็นการเสนอทางเลือกใหม่ให้ผู้คนได้ทนซึ่งกันและกันได้" เครื่องคาราโอเกะแต่ละเครื่องนั้นจะใช้เทปคาสเซ็ตต์ แต่เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น ก็แทนที่ด้วยแผ่น ซีดี เลเซอร์ดิสก์ หรือ ดีวีดี แบบต่างๆ ครั้นถึง ค.ศ. 1992 บริษัทไทโต (Taito Corporation) ก็ได้นำเสนอเครื่อง X2000 ที่สามารถค้นหาเสียงดนตรีโดยผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ได้ สำหรับคุณภาพของดนตรีและภาพนั้นยังมีข้อจำกัด แต่ความก้าวหน้าของการสื่อสารมีมากกว่า จึงมีการใช้เทคโนโลยีสื่อสารที่ทันสมัยอยู่เสมอ ทำให้เครื่องคาราโอเกะมีขนาดเล็กลง และมีเครื่องรุ่นใหม่ๆ มาแทนที่เครื่องรุ่นเก่าๆ เสมอ เครื่องคาราโอเกะจะเช่อมต่อผ่านเครืองข่ายไฟเบอร์ออปติก เพื่อให้ได้ภาพและเสียงดนตรีคุณภาพสูงอย่างฉับไว ซึ่งเป็นที่นิยมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่นาน คาราโอเกะก็แพร่หลายไปยังส่วนอื่นๆ ของเอเชียน และแพร่ไปถึงสหรัฐอเมริกาเมื่อทศวรรษ 1990 มีร้านคาราโอเกะ หรือคาราโอเกะบาร์ที่จัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ให้ลูกค้าที่เป็นนักร้องสมัครเล่นได้ร้องเพลง ในบางแห่งนั้นมีแทนที่จะมีเครื่องเล่นคาราโอเกะขนาดเล็ก กลับใช้เครื่องเสียงไฮเอนด์ขนาดใหญ่เลยก็มี เวทีสำหรับเต้นและแสงไฟก็เป็นสิ่งที่พบได้ในคาราโอเกะบาร์ เนื้อร้องนั้นมักจะแสดงอยู่บนจอโทรทัศน์หลายจอที่วางไว้รอบๆ รวมทั้งมีจอฉายภาพขนาดใหญ่ด้วย
ความแตกต่างของคาราโอเกะในญี่ปุ่น และที่ไทย
มาถึงส่วนที่สำคัญแล้วนะคะ หากผู้ใดที่ได้เคยไปสัมผัส การร้องคาราโอเกะที่ญี่ปุ่น ก็จะพบว่า ค่อนข้างแตกต่างจากที่ไทยเป็นอย่างมาก อย่างแรกที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเลยคือ ระยะเวลาในการร้อง คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่แล้ว จะนิยมร้องคาราโอเกะแบบเหมา หรือเรียกว่า Free Time ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเวลา2ช่วง ซึ่งก็คือในช่วงเที่ยง ตั้งแต่ 12.00-18.00 และในช่วงเย็น คือตั้งแต่ 20.00-5.00 จะเห็นได้ว่าเป็นช่วงที่นานมากๆคนไทยส่วนใหญ่คงจะไม่ร้องนานถึงขนาดนี้แน่ๆ แต่สาเหตุที่คนญี่ปุ่นร้องได้นานขนาดนี้ก็เป็นเพราะว่าคาราโอเกะที่ญี่ปุ่น นั้น มีเครื่องดื่ม กาแฟ ชา ชาเขียว ขนม ไอติม และอื่นๆทุกรูปแบบที่ได้เตรียมเอาไว้ หรือเรียกกันว่า Drink Bar ซึ่งก็จะเป็นราคาที่รวมกับการร้องไว้อยู่แล้ว ดังนั้นถ้าใครร้องแล้วหิวก็สามารถร้องได้ตลอด เรียกได้ว่าร้องกันได้ทั้งคืนเลยค่ะ
ข้อแตกต่างอีกอันหนึ่งก็ คือ การคิดราคา ที่ไทยเกือบทั้งหมดจะเป็นการคิดราคาต่อห้อง หรือพูดง่ายๆคือ ถ้าเพื่อนๆมากันเยอะ ก็จะมีตัวหารมากขึ้น ราคาต่อคนจะถูกลง ยิ่งมาเยอะ ยิ่งถูก แต่ถ้าใครคิดแบบนี้ไปที่ญี่ปุ่นคงจะต้องตกใจกันเกือบทุกคนนะคะ เนื่องจากเกือบ100% ที่ญี่ปุ่นคิดเป็นต่อหัว ต่อคน มาน้อยมาเยอะเสียเท่ากัน แต่ดีตรงที่มีขนม อาหาร ไอติม ให้เพียบ
ส่วนราคานั้น ช่วงกลางวันจะถูกกว่าช่วงกลางคืน เนื่องจากคนทำงานนั้นมาไม่ได้ จึงขายได้แต่เฉพาะพวกนักเรียน และคนที่ไม่ได้ทำงานประจำเท่านั้น ราคาช่วงกลางวันทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 980 เยน หรือประมาณ 380 บาท ซึ่งถ้าเทียบกับเมืองไทยของเราแล้วก็นับว่าแพงอยู่ค่ะ ส่วนถ้าเป็นกลางคืนก็จะแพงขึ้นไปอีก โดยราคาเฉลี่ยนจะอยู่ที่ประมาณ 1390 เยน หรือประมาณ 530 บาท โดยจะเป็นการร้องเหมาทั้งคืน เรียกได้ว่าเตรียมหมอนผ้าห่มไปในห้องได้เลยคะ นอนแล้วตื่นมาร้องต่อก็ย่อมได้เช่นกัน
ทุกๆคนคงจะรู้ประวัติและความแตกต่างของคาราโอเกะในไทยและญี่ปุ่นดีขึ้นแล้วใช่ไหมค่ะ ใครอยากร้องคาราโอเกะที่ญี่ปุ่น เวลาไปญี่ปุ่น อย่าลืมแวะกันไปนะคะถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆครั้งหนึ่งในชีวิตเลยทีเดียว
ถ่ายทอดเรื่องราวและประสบการณ์โดย อาจารย์แบงค์
เนื้อเรื่อง+ภาพ By ทีมงานโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นอาจารย์แบงค์ www.ajarnbank.com
|
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|