เกริ่นนำโดย ทีมงานโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นอาจารย์แบงค์
ไม่ว่าจะชนชาติใด เผ่าพันธ์ใด ในโลกนี้ ล้วนแล้วแต่มีความเชื่อเรื่องเทพเจ้าด้วยกันทั้งนั้น เทพเจ้าถือเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนให้ประพฤติดีประพฤติชอบ ประเทศไทยก็มีผู้คนรวมกันอยู่หลายเชื้อชาติ แต่ละเชื้อชาติก็นับถือเทพเจ้าต่างกันออกไป เวลามีเทศกาลหรืองานต่างๆ คนก็จะขอพร ทำบุญให้เทพเจ้าตามความเชื่อของชนชาตินั้นๆ
ประเทศญี่ปุ่นเองก็เช่นกันได้มีการกราบไหว้บูชาเทพเจ้าอยู่หลายองค์แล้วแต่ความปรารถนาสิ่งที่อยากได้ เทพเจ้าที่คนญี่ปุ่นนิยมกราบไหว้กันมากที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้น 7 เทพแห่งความสุข หรือคนญี่ปุ่นจะรู้จักกันในนาม Shichi-Fukujin ซึ่งประกอบไปด้วยเทพชาย 6 องค์ และเทพหญิงอีก 1 องค์ Shichi-Fukujin นั้นเกิดขึ้นจากแนวความคิดเดียวกับคณะเทพโป๊ยเซียนของจีน เทพทั้ง 7 นี้ก็มีทั้งเทพที่รับมาจากศาสนาพุทธมหายาน, ลัทธิเต๋า และเทพพื้นเมืองของญี่ปุ่นปะปนกันไป
ว่ากันว่า ผู้เป็นคนต้นคิดให้นำคณะเทพทั้ง 7 องค์นี้มารวมกัน คือพระภิกษุชาวญี่ปุ่นชื่อว่า เท็นเคอิ (Tenkei) เป็นผู้คัดเลือกเทพต่างๆที่ได้รับความนิยมทั่วเกาะญี่ปุ่นมาถวายโชกุนโตกุกาวา อิเอยาสุ (Tokugawa Ieyasu : 徳川家康) เมื่อ พ.ศ.2166 เป็นเพราะว่าครั้งหนึ่งหลวงพ่อเท็นเคอิได้แสดงปรัชญาแก่โชกุนไว้ว่า “หลักแห่งความผาสุกของมนุษย์โดยทั่วไปนั้นควรจะประกอบด้วย 7 สิ่ง” คือ ความมีอายุยืน, ความมีโชคดี, ความนิยม, ความไม่มีอคติ, ความเอื้อเฟื้อ, ความมีเกียรติ และความไม่อาฆาตพยาบาท
เทพทั้ง 7 นั้นประกอบไปด้วย
Daikoku (大黒天) เทพไดโกกุเป็นลักษณะเป็นชายอ้วนลงพุงใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสสวมหมวกแบนๆพระหัตถ์ถือค้อนตะลุมพุกและพระหัตถ์อีกข้างหนึ่งจะแบกถุงใส่สมบัติใบใหญ่ ว่ากันว่าถ้าท่านสั่นตะลุมพุกเมื่อไหร่เงินทองไหลมาเทมา มีผู้วิเคราะห์ว่าเดิมท่านน่าจะเป็นพระโพธิสัตว์ในศาสนาพุทธมหายาน คือ พระมหากาล แต่ท่านดูจะใจดีกว่าพระมหากาลมาก ท่านก็เป็นเทพเจ้าแห่งความมั่งคั่งและร่ำรวย บางครั้งปรากฎรูปเทพไดโกกุยืนอยู่บนฟ่อนข้าวที่กำลังถูกหนูแทะก็มี แต่ท่านประทับอยู่ในอาการที่มีความสุขไม่เดือดร้อน เพราะความมั่งคั่งร่ำรวยนั่นเอง จึงทำให้หลายๆบ้านเอารูปท่านไปติดไว้ในครัวเพื่อให้กำราบหนู
Ebisu (恵比寿) เทพอิบิสุนี้เป็นที่บูชากันมากในแถบโอซากา เนื่องจากเป็นแหล่งอุตสาหกรรมประมงของญี่ปุ่นมาแต่โบราณ ท่านถึงได้ทรงคันเบ็ดและปรากฏพร้อมกับปลากระพงยักษ์ (Tai : 鯛) ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงกลายเป็นเทพเจ้าแห่งการประมงและเป็นเทพที่นิยมบูชากันในตลาดปลา ชาวประมงญี่ปุ่นเมื่อจะออกทะเลแต่ละครั้งมักบูชาเทพองค์นี้เสมอ ตำนานการกำเนิดของท่านนั้นแต่ละที่ก็เขียนไว้ไม่เหมือนกัน บ้างก็ว่าเป็นโอรสของเทพไดโกกุ แต่ที่แน่ๆท่านเป็นเทพเจ้าญี่ปุ่นดั้งเดิมแค่องค์เดียวในบรรดาเทพเจ้าทั้ง 7
Benzaiten (弁才天) เทวีเบนเท็นก็คือ พระแม่สรัสวตีของฮินดู แต่ท่านเข้าไปถึงญี่ปุ่นโดยผ่านศาสนาพุทธนิกายมหายานในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 13 รูปลักษณ์ของท่านจะปรากฎออกมาเป็นสตรีที่ถือบิวะ (พิณของญี่ปุ่น) และมีหน้าที่รักษาพระไตรปิฎกรวมทั้งปกป้องผู้ที่ครอบครองพระไตรปิฎก แต่ในเวลาต่อมานิกายชินกอนและเทนไดได้เปลี่ยนแปลงคติความเชื่อเกี่ยวกับเบนเท็น โดยให้เป็นเทพผู้ครองน้ำร่วมกับเทพแห่งผืนดินริมฝั่งแม่น้ำ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนญี่ปุ่นนับถือพระนางเป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์และโชคลาภ เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นผืนดินริมน้ำและของเหลวต่างๆ ล้วนแต่เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทั้งสิ้น บุคคลที่ใช้ศิลปะการแสดงเป็นอาชีพเลี้ยงตัวอย่างเกอิชานับถือท่านอย่างมาก เทวีเบนเท็นในญี่ปุ่นเลยเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า เป็นเทพคุ้มครองพวกเกอิชาด้วย เทวรูปเทพเบนเท็นในศาลเจ้าหลายๆแห่งมักปรากฏรูปงูอยู่ด้วย เพราะท่านมีความเกี่ยวข้องกับบาดาล จึงนับถือกันว่าพระนางสามารถควบคุมมังกรและอสรพิษต่างๆ ได้ รวมทั้งคุ้มครองผู้เดินทางยามวิกาลจากงูได้ด้วย ในทางเทววิทยานั้นว่ากันว่า งูในสมัยโบราณคือสัญลักษณ์ของดินกับน้ำซึ่งเกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ด้วย
Fukurokuju (福禄寿) ท่านได้รับการนับถือในฐานะเทพผู้ประทานพรให้มีอายุยืนยาว นอกจากนี้ท่านยังสามารถบันดาลให้มีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมืองและทำให้ข้าวปลาธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ได้อีกด้วย เทววิทยาได้อธิบายไว้ว่า เทพองค์นี้เกิดจากสภาวะ 3 ประการคือ Fuku (เทพเจ้าแห่งความสุข), Roku (เทพเจ้าแห่งทรัพย์สมบัติ), Ju (เทพเจ้าแห่งความมีอายุยืน) เทพองค์นี้มักปรากฏเป็นลักษณะของผู้คงแก่เรียนมีความเคร่งขรึมสำรวม และจุดเด่นอยู่ที่ศีรษะที่สูงยาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอายุยืน,ความฉลาด และประสบการณ์ มักมีสัตว์มงคล เช่น นกกระเรียน, กวาง หรือเต่าอยู่ใกล้ๆด้วย สัตว์เหล่านี้ทางศาสตร์ของจีนล้วนแต่เป็นตัวแทนของความมีอายุยืนทั้งสิ้น ดังนั้น เทพองค์นี้ก็คือ เทพ “ซิ่ว” ที่อยู่ในชุด “ฮก ลก ซิ่ว” ของจีน ว่ากันว่าพระองค์ทรงเป็นพระบิดาของเทพจูโรจิน ซึ่งเป็นเทพแห่งอายุยืนอีกองค์หนึ่งด้วย
Jurojin (寿老人) ท่านเป็นลูกของเทพฟุกุโรคุจู โดยมีเทวลักษณะเป็นชายร่างเล็กเตี้ย แต่ศีรษะใหญ่ และมักถือไม้เท้ายาวที่มีสมุดเล่มเล็กๆห้อยไว้ด้วย สมุดเล่มนี้ท่านเอาไว้คอยจดอายุไขของบรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ข้างกายท่านก็จะมีกวางอยู่ด้วย ถ้าเป็นรูปวาดสมัยเก่าๆก็มักวาดให้กวางนี้เป็นสีดำ เพราะเชื่อกันว่ากวางจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินก็ต่อเมื่ออายุครบ 1000 ปี กลายเป็นสีขาวเมื่ออายุ 1500 ปี และกลับมาเป็นสีดำสนิทเมื่ออายุครบ 2000 ปี นอกจากนี้ท่านยังโปรดสุรามาก โดยเฉพาะเหล้าสาเก แต่ท่านมีข้อแตกต่างจากคนอื่นคือดื่มเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักเมา จึงเป็นที่นับถือของคนที่มีอาชีพต้มเหล้า ผลิตเหล้า เวลาจัดของเซ่นไหว้ท่านก็ต้องมีเหล้าสาเกรวมอยู่ด้วย
Bishamon (毘沙門) เชื่อกันว่าเทพองค์นี้เดิมก็คือท้าวเวสสุวัณของไทย พระองค์ทรงเป็นโลกบาลผู้ครองทิศเหนือ รวมทั้งเป็นเทพผู้คุ้มกฎ ปกป้องผู้บูชาจากอันตรายและภูตผีปีศาจ นอกจากนี้ท่านยังเป็นเทพแห่งทรัพย์สมบัติอีกด้วย ว่ากันว่าท่านเป็นเทพที่มั่งคั่งร่ำรวยยิ่งนัก ท่านสามารถประทานโชคลาภ 10 ประการ และทรัพย์สินเงินทองของมีค่าตามแต่ผู้บูชาจะอธิษฐานได้ด้วย ในอีกด้านหนึ่ง บิชามงก็เป็นเทพแห่งสงคราม ดังนั้นทิพยรูปของพระองค์จะสวมเสื้อเกราะแบบนักรบมี พระพักตร์สีฟ้าและถืออาวุธต่างๆ แต่ที่เห็นชัดคือหอกและเจดีย์ เทพบิชามงเป็นตัวแทนของคุณงามความดีและความสงบสุขด้วย
Hotei (布袋) เทพโฮเตอิเป็นเทพเจ้าความสุขและความรู้จักพอ นอกจากนั้นยังเชื่อว่าช่วยให้ทำมาค้าขายดี และมักตั้งเอาไว้ที่บริเวณทางเข้าร้านค้า เทวลักษณะของเทพองค์นี้ คือรูปร่างอ้วน แก้มยุ้ย ใบหน้ายิ้มแป้นมือถือพัด มักจะสะพายย่ามใบใหญ่ไว้ ย่ามใบนี้เล่ากันว่าใส่ของไปมากแค่ไหนก็ไม่มีวันเต็ม เทววิทยาญี่ปุ่นยอมรับว่าเทพองค์นี้มาจากจีนอย่างแน่นอน ว่ากันว่าท่านเคยเป็นมนุษย์ธรรมดา เกิดในสมัยราชวงศ์เหลียงของจีน ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น ท่านเป็นบุคคลที่มีความรอบรู้เชี่ยวชาญในพุทธศาสนามากและก็มีวัตรปฏิบัติของผู้ละวางไม่ยึดติดใดๆ ไม่มีแม้แต่บ้าน ค่ำไหนนอนนั่น บางครั้งก็นอนในทุ่งโล่งได้อย่างไม่สะทกสะท้านแม้ว่าจะมีหิมะลงอย่างหนัก การที่ท่านแต่งกายคล้ายพระสังกัจจายน์ของจีนและสะพายย่ามใบใหญ่ รวมทั้งอยู่ในอาการยิ้มแย้มแจ่มใสตลอดเวลา ก็เลยมีผู้เสนอว่าเทพองค์นี้อาจเป็นคติความเชื่อเดียวกับพระศรีอาริยเมตไตรของจีนก็เป็นได้ แต่เมื่อมาถึงญี่ปุ่นก็กลายเป็นเทพที่ชอบเหล้าสาเก เพราะคนญี่ปุ่นชอบเหล้าสาเกและเทพแห่งโชคลาภของญี่ปุ่นเกิดจากการเลียนแบบคณะโป๊ยเซียนของจีน จึงได้รับแรงบันดาลใจจากนิทานพื้นบ้านที่มักกล่าวถึงโป๊ยเซียนชอบร่ำสุราร่วมกัน
ปรากฏว่าโชกุนเลื่อมใสคำสอนของหลวงพ่อเท็นเคอิมาก เพราะมองว่าผู้ใดก็ตามที่มีหลักทั้ง 7 ประการนี้ย่อมจะพบกับความสุขความเจริญอย่างแน่นอน และให้หลวงพ่อคัดเลือกเทพเจ้าที่คนญี่ปุ่นนับถือกันมา 7 องค์ เพื่อเป็นตัวแทนของคุณงามความดีทั้ง 7 ประการดังกล่าว เมื่อเลือกเสร็จหลวงพ่อจึงให้จิตรกรที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคนั้นนามว่า Kano วาดภาพเทพเจ้าทั้ง 7 องค์ ให้มารวมเป็นคณะเดียวกัน ปรากฏว่าโชกุนชื่นชอบมาก จึงกลายเป็นที่แพร่หลายไปทั่วญี่ปุ่นนับตั้งแต่สมัยนั้น ใครๆต่างก็พากันบูชาเทพทั้ง 7 องค์มาจนถึงทุกวันนี้
คติความเชื่อเกี่ยวกับเทพแห่งโชคลาภ 7 องค์นี้ ยังทำให้มีการสร้างศาลเจ้าสำหรับเทพคณะนี้ขึ้นโดยเฉพาะในเทศกาลมงคลต่างๆ รวมทั้งวันขึ้นปีใหม่ด้วย โดยเฉพาะของขวัญปีใหม่ที่คนญี่ปุ่นนิยมมอบให้กัน ก็จะมีเทพแห่งโชคลาภองค์ใดองค์หนึ่งหรือทั้ง 7 องค์รวมอยู่ด้วยในลักษณะของการ์ดอวยพรหรือวัตถุมงคลชนิดใดชนิดหนึ่งเสมอ ถ้าเป็น 7 องค์ ก็นิยมวาดหรือทำเป็นประติมากรรมรูปเทพเจ้าทั้ง 7 ประทับในเรือลำเดียวกัน เรียกว่า Takarabune (宝船) มีต้นแบบมาจากรูปแปดเซียนข้ามทะเลนั่นเอง
Takarabune นั้นคือ เรือมหาสมบัติ เชื่อกันว่าเทพแห่งโชคลาภทั้ง 7 นี้จะนำเรือมหาสมบัติมาสู่โลกมนุษย์ทุกวันขึ้นปีใหม่ ดังนั้นในตอนเย็นวันที่สองของปีใหม่จะมีประเพณีนำรูป Takarabune วางไว้ใต้หมอน เพื่อให้ผู้หนุนหมอนนั้นโชคดีไปตลอดปีนั้นเลย
ขอบคุณข้อมูลดีดีจาก anngle.org
|