บทความจาก Japanese Gourmet Bangkok
วากาชิ (和菓子 / Wagashi) คือ ขนมหวานญี่ปุ่นดั้งเดิมที่มีการผสมผสานศิลปะความเป็นญี่ปุ่นในสมัยเมืองหลวงเก่า "เกียวโต" ไว้ได้อย่างลงตัว ตัวอักษร 和 (wa) แปลว่า "แห่งความเป็นญี่ปุ่น" และตัวอักษร 菓子 (kashi) แปลว่า "ขนมหวาน" นำมารวมกันก็จะหมายถึงขนมหวานของญี่ปุ่นนั่นเอง วากาชิเป็นหนึ่งในสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงแก่นแท้ความเป็นญี่ปุ่น และนอกจากนั้นยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของวิถีชีวิตชาวญี่ปุ่นอีกด้วย ญี่ปุ่นรับอิทธิพลการทำขนมโดยใช้เมล็ดข้าวเป็นวัตถุดิบจากประเทศจีน ผ่านทางพระสงฆ์ที่เดินทางมาเผยแผ่ศาสนาในยุคนาระ (Nara / ค.ศ. 710-784) และชาวเมืองในสมัยนั้นก็เริ่มคิดค้น "โมจิ" และ "ดังโงะ" แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วขนมเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในทางศาสนามากกว่า ประชาชนทั่วไปไม่ค่อยมีโอกาสได้สัมผัสเท่าไรนัก รูปแบบพื้นฐานของวากาชิที่เราเห็นกันทุกวันนี้เริ่มมาจากยุคนี้นั่นเอง |
ขนมหวานญี่ปุ่นมีวิวัฒนาการที่โดดเด่นที่สุดในช่วงปลายยุคสมัยมุโรมาจิ (Muromachi / ค.ศ. 1336-1573) เมื่อประเทศญี่ปุ่นเริ่มติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ การค้าขายกับโปรตุเกสและสเปนได้นำเอาสูตรอาหารและวัตถุดิบใหม่ๆ เข้ามา ซึ่งมีอิทธิพลต่อการทำวากาชิในสมัยนั้นมาก ก่อนหน้านั้นความหวานของวากาชิจะขึ้นอยู่กับรสชาติตามธรรมชาติของส่วนผสมเสียมากกว่า แต่การเข้ามาของน้ำตาลปฏิวัติสูตรสำหรับความหวานในวากาชิเลยทีเดียว และยังเป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาวากาชิในยุคต่อๆ มาอีกด้วย
ศิลปะของวากาชิได้รับการพัฒนาจนถึงจุดสูงสุดในช่วงต้นยุคสมัยเอโดะ (Edo / ค.ศ. 1603-1867) มีการพัฒนาสูตรขนมต่างๆ และการแข่งขันมากมาย ทั้งในเกียวโต, เอโดะ และภูมิภาคอื่นๆ ชาวเมืองทั่วไปต่างก็ได้เพลิดเพลินกับขนมหวานต่างๆ กันได้อย่างอิสระ ขนมหวานญี่ปุ่นชั้นเลิศต่างก็ถูกคิดค้นขึ้นในยุคนี้เช่นกัน การนำขนมหวานไปใช้ในโอกาสต่างๆ ก็มีให้เห็นมากขึ้น เช่น ใช้ทานในพิธีชงชา, ทานเป็นของว่างยามบ่าย หรือมอบเป็นของขวัญในโอกาสสำคัญต่างๆ
ในช่วงยุคเมจิ (Meiji / ค.ศ. 1868-1912) เค้กและขนมหวานสไตล์ตะวันตกเริ่มเข้ามาในญี่ปุ่น และมีอิทธิพลต่อวากาชิเป็นอย่างมาก คำว่า "วากาชิ" นี้ก็ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงปลายยุคไทโช (Taisho / ค.ศ. 1912-1926) เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างขนมหวานญี่ปุ่นออกจากขนมสไตล์ตะวันตก หรือที่เรียกว่า "โยกาชิ" (洋菓子 / Yougashi) นั่นเอง ถึงแม้ว่าวากาชิจะได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมต่างประเทศตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา แต่ก็ยังรู้สึกสัมผัสได้ถึงศิลปะและความเป็นญี่ปุ่นได้อย่างลงตัว และวากาชิจะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่จะพัฒนาและเติบโตต่อไปอีกนาน
|
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|