เกริ่นนำโดย ทีมงานโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นอาจารย์แบงค์
ข้าวแช่เป็นอาหารชาววังของไทยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ รับประทานกันเฉพาะในฤดูร้อน นำมาเข้ามาโดยชาวมอญ แรกได้นำเข้ามาเฉพาะในวังเท่านั้น ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาหลังการเสด็จสวรรคต ข้าวแช่ก็ได้แพร่หลายให้ประชาชนได้ทานกัน
ข้าวแช่ของญี่ปุ่นหรือที่เรียกกันว่า โอชาซึเกะ(Ochazuke) ซึ่งแปลว่าใส่น้ำชา คนญี่ปุ่นทานข้าวแต่ละมื้อก่อนจะหมดจะเทน้ำชาใส่ลงไปในข้าว แล้วกินกับผักดองไปจนหมดถ้วย การกินข้าวแบบนี้จึงเรียกว่า “โอชาซึเกะ” |
คนญี่ปุ่นกินโอชาซึเกะกันมานานหลายร้อยปี ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นบ้านเรา ซึ่งตรงกับ สมัย “กามากุระ” เป็นสมัยที่ญี่ปุ่นปกครองด้วยระบบทหาร มีเมืองหลวง อยู่ที่ เมืองกามากุระ ในสมัยกามากุระ พระพุทธศาสนานิกาย “เซน” พึ่งจะเข้าแพร่หลายในญี่ปุ่น พระญี่ปุ่นซึ่งไปศึกษาพระพุทธศาสนานิกายเซนในเมืองจีน ได้นำเอาวิธีสอนแบบจิตว่างมาฝึกให้แก่พวกซามูไรสมัยกามากุระ ซึ่งลูกศิษย์จะอุปถัมภ์ พระสงฆ์นิกายเซน วัดของพระนิกายเซนจึงไปตั้งอยู่ที่เมืองกามากุระเป็นแห่งแรก ในสมัยกามากุระนี้ หลวงพ่อเอนไซ ได้นำพันธุ์ต้นชาจากเมืองจีนเข้ามาปลูกใน วัดนิกายเซน และเก็บใบชามาชงน้ำร้อนดื่ม ถือว่า ใบชาเป็น “ยา” ช่วยกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกกระปรี้กระเปร่าช่วยในการทำสมาธิ พระนิกายเซนจึงดื่มน้ำชาเป็นประจำ แล้วยังชงชาต้อนรับผู้ที่มาเยือนและสนทนาธรรมอีกด้วย การดื่มน้ำชาของญี่ปุ่นจึงเกิดขึ้นครั้งแรกที่วัดเซนในกามากุระ หลังจากนั้นประมาณสมัยอยุธยาตอนต้น หลวงพ่อ “ไดโอ” เจ้าอาวาสวัดเซน ได้นำวิธีชงชาอย่างมีพิธีรีตองจากเมืองจีน เข้ามาปรับปรุงการชงชาของญี่ปุ่น การชงชาจึงเป็นที่นิยมในชนชั้นปกครองและพวกซามูไร ตลอดจนชาวบ้านซึ่งเป็นลูกศิษย์วัดเซน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพ่อค้า การชงชาแบบมีพิธีรีตองจึงแพร่หลายไปทั่ว จนกลายเป็นวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นมาจนทุกวันนี้ |
น้ำชาที่นิยมดื่มกันในญี่ปุ่นเป็น “ชาเขียว” ไม่ใช่ ชาแบบจีน ที่มีอยู่มากมายหลายพันธุ์ ที่นิยมกันมากก็คือ สายพันธุ์ “อูหลง” ที่เก็บใบชาเฉพาะตรงยอดเพียงสามใบเท่านั้น กรรมวิธีในการผลิตก็มีหลายขั้นตอนกว่าจะได้ใบชาที่หอมหวนมาดื่ม ส่วนชาเขียวของญี่ปุ่นที่นิยมดื่มกันจนเป็นของวิเศษ ติดกันเหมือนยาเสพติดนั้น เป็นพันธุ์ชาป่าจากอินเดียตอนเหนือ ขึ้นงอกงามในแคว้นอัสสัม (ที่มีคนเชื้อสายไทยอาหม) มาแต่โบราณ นอกจากจะแพร่ หลายไปทั่วอินเดียแล้ว ยังไปแพร่พันธุ์ที่ลังกาให้ฝรั่งมาทำชา “ลิปตัน” อีกด้วย ชาโบราณจากอินเดีย เข้ามาเมืองจีนพร้อมกับศาสนาพุทธ สมัยพระถังซำจั๋ง แต่ยังไม่มีหลักฐานว่าท่านนำเอาพันธุ์ชาเข้ามาด้วยหรือไม่ ที่มีหลักฐานอย่างแน่ชัดว่าพระสงฆ์รูปหนึ่งชื่อ “พระโพธิธรรม”คนจีนเรียก “ตั๊กม้อ” ญี่ปุ่นเรียก “ดารุมะ” จาริกมาจากอินเดีย นำพระพุทธศาสนาเข้ามาสั่งสอน เผยแผ่พระธรรม จำศีลอยู่ที่วัดเสี้ยวลิ้มยี่ พระพุทธศาสนานิกายเซนจึงตั้งมั่นอยู่ในเมืองจีน และแพร่หลายเข้ามาสู่ญี่ปุ่นพร้อมกับนำชาโบราณเข้ามาพร้อมกันด้วย |
มีตำนานเกี่ยวกับกำเนิดต้นชาที่เล่าขานกันมาว่า พระโพธิธรรม (ตั๊กม้อ) นั่งทำสมาธิเพ่งฝาผนังเป็นเวลานานจนเกิดง่วงนอน หนังตาหนักตกลงมาปิดตาอยู่บ่อยๆ พระโพธิธรรมเกิดความรำคาญจึงดึงหนังตาออก แล้วทิ้งลงไปที่พื้นดิน
ต่อมาไม่นานก็เกิดต้นไม้งอกออกมาต้นหนึ่ง เมื่อนำเอาใบของต้นไม้ต้นนี้ไปชงกับน้ำร้อน ดื่มเข้าไปแล้วเกิดความกระชุ่มกระชวย ไม่ง่วงนอน แถมยังชุ่มคออีกด้วย พระนิกายเซนซึ่งเป็นลูกศิษย์พระโพธิธรรม จึงขยายพันธุ์ต้นชา นำมาดื่มน้ำชาตั้งแต่บัดนั้น ตำนานที่ว่านี้มีมูลความจริงอยู่แต่เพียงว่า พระโพธิธรรมเป็นผู้นำต้นชาจากแคว้นอัสสัม ในอินเดียมาปลูกในเมืองจีนเป็นคนแรก เท่านั้นเอง ข้าวแช่ญี่ปุ่น หรือ “โอชาซึเกะ” นี้มีที่มาจากพระนิกายเซนเป็นต้นแบบ เรื่องมีอยู่ว่าพระนิกายเซนไม่ออกบิณฑบาตแบบพระไทย แต่จะออกรับการถวายข้าวสารเป็นครั้งคราว ส่วนกับข้าวทางวัดต้องหากันเอง พระนิกายเซนจึงต้องปลูกผัก ทำสวนด้วยตัวเอง กับข้าวของพระเซนนั้นเป็นผักต่างๆ ปรุงแต่งเป็นอาหารประจำวัน ผิดกับพระสงฆ์ไทยที่ออกรับบิณฑบาตหรือมีโรงครัวในวัดที่แม่ชีและอุบาสิกาเป็นแม่ครัว พระสงฆ์ไทยจึงมีผู้อุปถัมภ์โดยตลอด ของกินดีๆ รสชาติอร่อยก็มีคนนำมาถวายพระ เพื่อส่งผลบุญไปยังบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว พระนิกายเซนนั้นฉันมังสวิรัติ กับข้าวที่ฉันต้องทำเองทั้งสิ้น ข้าวสารเป็นของหายาก ดังนั้น เวลาฉันข้าวต้องให้หมดเกลี้ยง โดยเทน้ำชาลงไปในชามข้าวแล้วซดน้ำชาที่มีข้าวเหลือจนหมดชาม |
โดยที่พระเซนต้องทำครัวเอง และกับข้าวก็จะได้มาจากพืชผักที่ปลูกเองบ้าง คนนำมาถวายบ้าง เมื่อมีมากเข้าจนฉันไม่หมด จึงเกิดการดองผักไว้กินมื้ออื่น มีผักดองจืด ดองเปรี้ยว ดองเค็ม ดองหวาน เป็นกับข้าวหลัก มี พระเซนในยุคเอโดะ ชื่อ “ทากุอัน” คิด ดองหัวไช้เท้าที่มีรสชาติอร่อย เมื่อ 400 ปีมาแล้ว จนทุกวันนี้ก็มีหัวไช้เท้าดองจากต้นตำรับดั้งเดิมกินอยู่เป็นประจำ เรียกกันว่า “ตากวง” ตามชื่อพระเซนที่คิดทำผักดองชนิดนี้นั่นเอง การฉันข้าวของพระนิกายเซนทุกรูป เป็นแบบเดียว กัน บรรดาลูกศิษย์ที่เป็นทั้งผู้ครองนคร (ไดเมียว) ซามูไร และชาวบ้าน จึงนำเอาไปเป็นแบบอย่างแพร่หลายไปทั่วบ้านเมือง แต่นำมาปรับปรุงรสชาติโดยเพิ่มเนื้อสัตว์น้ำ จำพวกกุ้ง ปลา เป็นกับข้าวแทนที่จะเป็นผักอย่างเดียว เป็นปลาย่าง กุ้งตัวเล็กใส่ข้าวคั่วกรอบๆ ปรุงรสด้วยวาซาบิ ให้มีรสเผ็ดเพิ่มความโอชะ และเมื่อเอาข้าวใส่ชาม ใส่เครื่องปรุง โรยหน้าข้าวแล้วเทน้ำชาร้อนลงไปในถ้วย เป็นข้าวแช่ น้ำชา หรือโอชาซึเกะ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมในการกินของญี่ปุ่น ที่ยังนิยมกันอยู่จนทุกวันนี้ คนไทยเราไม่ค่อยชินกับโอชาซึเกะเท่าไรนัก แต่จะชินกับอาหารญี่ปุ่นจำพวกปลาดิบ เทมปุระชาบุ-ชาบุ มากกว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นทุกร้านจึงมีอาหารหลากหลายให้เลือกกิน |
ขอบคุณข้อมูลจาก คุณ Lu€iFerZ /
dek-d.com |
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|