นาย เมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจเดือนม.ค.2555 ฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องในทุกภาค โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ 50.8 กลับมายืนอยู่เหนือระดับความเชื่อมั่นได้เป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน หลังจากตกลงไปต่ำกว่าระดับความเชื่อมั่นตั้งแต่เดือนก.ย.2554 จากผลกระทบของอุทกภัย ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 56.5 แต่ยอมรับว่าแนวโน้มราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบที่ปรับตัวสูงขึ้น จนอาจสูงกว่าสมมติฐานที่ ธปท.ประเมินไว้ปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 103.3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามใกล้ชิด ปัจจุบัน น้ำมันดิบตลาดดูไบอยู่ที่ 122 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และตั้งแต่ต้นปีเฉลี่ยอยู่ที่ 112 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 21 มี.ค.นี้ ธปท. จะนำสมมติฐานราคาน้ำมันใหม่มาประเมินภาวะเศรษฐกิจอีกครั้ง จากเบื้องต้นคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้สูงกว่าที่ธปท.คาดไว้ 4.9%" นายเมธีกล่าว นายเซ็ทซึโอะ อิอุชิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) และประธานคณะสำรวจเศรษฐกิจ หอการค้าญี่ปุ่นในไทย เปิดเผยผลสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในไทย ว่า จำนวนผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่ตอบแบบสอบถาม 336 บริษัท พบว่าครึ่งหลังปี 2554 ดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจติดลบ 31 ลดลงจากบวก 32 ในครึ่งปีแรก ส่วนครึ่งแรกปี 2555 ดัชนีกลับมาเป็นบวก 46 เมื่อพิจารณาเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจะพบว่าดัชนี กลับมาเป็นบวก 44 เพิ่มจากลบ 49 ในครึ่งหลังปี 2554 โดยสิ่งที่นักลงทุนเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยมากที่สุด 64% คือ การรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและความปลอดภัยของบ้านเมือง นายเซ็ทซึ โอะกล่าวว่า การกลับมาผลิตอีกครั้งของนักลงทุนญี่ปุ่น กว่า 85% ยังคงผลิตพื้นที่เดิม แต่มี 8% ที่ย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ย้ายฐานการผลิตมากที่สุด 16% สำหรับการจ้างงานพบว่า 73% คงสภาพการจ้างงาน ส่วนบริษัทที่ยุติการจ้างงานและพนักงานลาออกโดยสมัครใจอยู่ที่ 24% โดยจำนวนนี้สัดส่วนการเลิกจ้าง สูงกว่าการลาออก สำหรับข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยเกี่ยวกับอุทกภัยที่เกิดขึ้นพบว่า 83% อยากให้รัฐบาลกำหนดแผนป้องกันเพื่อรับมือกับน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว 68% อยากให้นำเสนอข้อมูลอย่างแม่นยำ และ 32% อยากให้จัดตั้งกองทุนประกันภัยพิบัติ ด้านผลกระทบจากการปรับขึ้นค่า จ้างขั้นต่ำพบว่า บริษัทมากถึง 63% เห็นว่าส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างรุนแรง 25% เห็นว่าส่งผลกระทบแต่อยู่ในวงจำกัด และ 10% ไม่มีผล กระทบ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดผลกระทบรุนแรง เพราะบริษัทญี่ปุ่น 75% เห็นว่าการขึ้นค่าแรงไม่ใช่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้น แต่ รวมถึงการปรับขึ้นเงินเดือนของพนักงานคนอื่นด้วย บริษัท 40% เห็นว่าต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถปรับเพิ่มราคาสินค้าได้
ข้อมูลจาก ข่าวสด |
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|