ASTVผู้จัดการรายวัน - แฉกลุ่มทุนประกันรายใหญ่ญี่ปุ่น “โตเกียวมารีน” บริหารความเสี่ยงผิดพลาด แต่ฉวยจังหวะพิษน้ำท่วมออกฤทธิ์ สถานการณ์บีบให้ต้องเพิ่มทุน เดินเกม “ปิดประตูตีแมว” ไล่ฮุบกิจการจากคนไทยกลบความผิดพลาดตัวเอง จับตาประวัติศาสตร์ซ้ำรอยยุคต่างชาติฮุบไฟแนนซ์ ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง สุดท้ายประกันภัยในมือทุนไทยสูญพันธุ์ แหล่งข่าวจากวงการประกันภัยเปิดเผย ว่า สถานการณ์ของธุรกิจประกันภัยในช่วงหลังวิกฤตอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อช่วงปลาย ปี 2554 ที่ผ่านมา ขณะนี้กำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญ เพราะกลุ่มทุนรายใหญ่โดยเฉพาะต่างชาติที่ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทประกันภัยต่างๆ เริ่มฉวยโอกาสที่สถานการณ์บีบบังคับด้วยกฎหมายให้ต้องเพิ่มทุนดำเนินการ เพื่อให้บริษัทมีเสถียรภาพเพียงพอต่อการทำธุรกิจยื่นข้อเสนอให้ผู้ถือหุ้นคน ไทยในลักษณะที่ไม่มีทางเลือก จนในที่สุดอาจถูกบีบต้องขายหุ้นที่มีอยู่ออกไป “ระหว่างทุนต่างชาติกับคนไทยตอนนี้ มันเหมือนกับเกมปิดประตูตีแมว เพราะผู้ถือหุ้นคนไทยมีทางเลือกแค่ หนึ่ง หาเงินมาซื้อหุ้นที่จะเพิ่ม กับ สอง ขายหุ้นในมือที่มีอยู่ให้กับเขาไปซะเพื่อตัดปัญหา ซึ่งทางเลือกแรกในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันการลงทุนเพิ่มด้วยเม็ดเงินมหาศาลถือ เป็นเรื่องที่ยากมาก ครั้นจะไม่หาเงินมาเพิ่มก็จะถูกบีบให้ขายหุ้นออกไป” แหล่งข่าวกล่าว น้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปีที่แล้วสร้างความเสียหายป็นวงกว้าง ประเมินกันว่า บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยจากโรงงานอุตสาหกรรม บริษัท ห้างร้านต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างไม่คาดฝันมีจำนวนเงินเอาประกันภัยรวมกว่า 7.94 แสนล้านบาท แม้ว่าเบื้องต้นบริษัทประกันภัยหลายแห่งจะออกมายืนยันว่า ไม่ได้รับผลกระทบโดยมีความสามารถในการดำเนินการธุรกิจต่อไปได้อย่างไม่มี ปัญหา เพราะบริหารความเสี่ยงครอบคลุมไว้แล้ว เช่น การส่งประกันภัยต่อไปยังบริษัทรับประกันภัยต่อต่างชาติ แต่ในความเป็นจริงสถานการณ์น้ำท่วมครั้งที่ผ่านมามีความเสียหายที่คาดไม่ถึง และกินเวลายาวนานหลายเดือนกว่าที่คิด ทำให้การเรียกร้องเอาเงินประกันสูงเป็นประวัติการณ์ จึงเชื่อกันว่า อาจมีบางบริษัทที่บริหารความเสี่ยงไม่ดีหรือผิดพลาดมาตั้งแต่ต้นเริ่มจะมี ปัญหา โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทที่ถือหุ้นโดยทุนญี่ปุ่น **เผยกลุ่มทุนญี่ปุ่นอ่วมหนัก ทั้งนี้ ลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทประกันภัยญี่ปุ่นจะเป็นผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่เข้า มาลงทุนในประเทศไทย จึงทำให้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเมื่อปลายปีที่ผ่านมาสูงที่สุด โดยบริษัทที่รับประกันภัยในนิคมอุตสาหกรรมสูงสุด 2 ลำดับแรก ได้แก่ บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ จำกัด และบริษัท สมโพธิ์ เจแปน ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด ขณะที่บริษัทโตเกียวมารีน ประเมินมูลค่าความเสียหายถึง 81,000 ล้านบาท แต่ส่วนใหญ่มีการเรียกเคลมจากบริษัทประกันภัยต่อ ปัจจุบันจากตัวเลขสมาชิกของสมาคมประกันวินาศภัยมีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 65 บริษัท และมีบริษัทร่วมทุนจากประเทศญี่ปุ่นอยู่ 2 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท โตเกียวมารีนศรีเมืองประกันภัย บริษัท สมโพธิ์ เจแปน ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด ขณะที่อีก 1 บริษัทถือเป็นสาขาของบริษัทแม่จากประเทศญี่ปุ่นคือ บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ จำกัด สาขาประเทศไทย สำหรับความเสียหายจากรายงานของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จำนวนเงินเอาประกันภัยที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมมีมูลค่าทั้งสิ้น 7.94 แสนล้านบาท แบ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง มีจำนวนผู้เอาประกันภัย 926 ราย เป็นจำนวนเงินเอาประกันภัยทั้งสิ้น 4.56 แสนล้านบาท ส่วนภาคครัวเรือนมีการทำประกันภัยไว้เป็นจำนวนเงินเอาประกันภัย 3.37 แสนล้านบาท ขณะที่ความเสียหายล่าสุดที่ได้รับการประเมินแล้วในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมใน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ ปทุมธานี มีจำนวนทั้งสิ้น 2.28 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 50% ของจำนวนเงินที่เอาประกัน และภาคครัวเรือนมีความเสียหายทั้งสิ้น 3.37 หมื่นล้านบาทหรือคิดเป็น 10% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย **โตเกียวมารีนส่อเค้ามีปัญหา แหล่งข่าวกล่าวว่า ในบรรดากลุ่มทุนญี่ปุ่นทั้งหมดในอุตสาหกรรมประกันภัย กลุ่มที่คนวงการกำลังจับตามองมากที่สุดขณะนี้ คือ กลุ่ม “โตเกียวมารีน” หนึ่งในยักษ์ใหญ่ของธุรกิจประกันภัยญี่ปุ่น เพราะมีความเคลื่อนไหวที่บ่งบอกถึงความผิดปกติในการดำเนินงานของบริษัท ทั้งนี้ กลุ่มทุนญี่ปุ่นรายนี้ได้เข้ามาลงทุนในธุรกิจประกันภัยร่วมกับคนไทยในชื่อ ศรีเมืองโตเกียวมารีนประกันภัย เมื่อปี 2514 ที่ผ่านมา จากนั้นได้ค่อยๆ สะสมทุนโดยซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่หุ้นส่วนคนไทยลดลงเหลืออยู่ประมาณ 30% ปัจจุบันการบริหารงานทั้งหมดในบริษัทจึงตกอยู่ในอำนาจความรับผิดชอบของทุน ญี่ปุ่นทั้งหมด “จากวิกฤตน้ำท่วม การบริหารงานโดยผู้บริหารญี่ปุ่นผิดพลาดที่ประเมินความเสี่ยงไว้ต่ำ ผลที่ตามมาประเมินกันว่า เงินกองทุนตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 หลังสิ้นสุดงบการเงินประจำปี 2554 ที่ยังไม่แสดงอาจจะติดลบมากกว่า 2,000 ล้านบาท ไม่นับรวมฐานะการเงินที่คาดว่าจะขาดทุนจากการดำเนินงานเป็นครั้งแรกในรอบ หลายปี เมื่อเทียบกับภาระที่บริษัทต้องรับผิดชอบสถานการณ์บีบให้ผู้บริหารต้องหาทาง แก้ไข หนึ่งในนั้นคือ การเพิ่มทุน” แหล่งข่าวกล่าว ทั้งนี้ ปี 2552 โตเกียวมารีน มีเงินกองทุนอยู่ที่ 1,353 ล้านบาท สูงกว่าตามกฎหมายกำหนด 255 ล้านบาท ปี 2553 เงินกองทุนอยู่ที่ 1,226 ล้านบาท สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด 249 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ผลการดำเนินงานในปี 2553 ขาดทุน แต่ในปี 2554 ไตรมาสที่ 1 เริ่มมีกำไร 55 ล้านบาท ไตรมาสที่ 2 กำไร 63 ล้านบาท และ ไตรมาสที่ 3 ก่อนที่น้ำจะท่วมใหญ่ กำไร 198 ล้านบาท ส่วนไตรมาสที่ 4 ยังไม่ได้ประกาศตัวเลขออกมา แหล่งข่าวจากบริษัทประกันภัย เปิดเผยว่า การดำรงเงินกองทุนตามเกณฑ์ (Risk Based Capital : RBC) ของ คปภ.จะมีอยู่หลายส่วน เช่น ความเสี่ยงจากการลงทุน ความเสี่ยงจากการรับประกันภัย ซึ่งที่มีผลกระทบจากน้ำท่วมจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วน คือ ส่วนที่สำรองเพื่อการรับประกันภัย และสำรองเพื่อการจ่ายสินไหม ซึ่งในกรณีที่มีการจ่ายสินไหมครบแล้วคงจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น แต่หากมีการเคลื่อนย้ายเงินเพื่อทำการจ่ายสินไหมแล้ว อาจมีผลกระทบต่อกองทุนสำรองที่จะต้องดำรงไว้ตามกฎหมายหรือความพอเพียงของ เงินกองทุน (CAR Ratio) ขั้นต่ำ 125% จากเดิม 100% ตามหลักเกณฑ์ใหม่ อย่างไรก็ตาม การที่แต่ละบริษัทจะทำการเพิ่มทุนหรือไม่นั้น จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งหากเป็นบริษัทที่มีผลประกอบการดี มีการลงทุนของผู้ถือหุ้นในจำนวนมาก รวมถึงการจัดการทำประกันภัยต่ออย่างประสิทธิภาพแล้วอาจไม่จำเป็นต้องมีการ เพิ่มทุน แหล่งข่าวกล่าวว่า เมื่อดูจากแนวโน้มของสถานการณ์และประเมินสถานะการเงินและปัญหาภายในบริษัท จึงยากที่โตเกียวมารีนจะหลีกเลี่ยงการเพิ่มทุน ซึ่งคาดว่าปี 2555 นี้บริษัทฯ จะต้องเพิ่มทุนเป็นเงินราว 3,000-4,000 ล้านบาท **จับตาทุนไทยสูญพันธุ์ ประเด็นที่น่าสนใจ คือ การเพิ่มทุนดังกล่าวผู้ถือหุ้นทั้งหมดจะต้องรับซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วน ที่ถือครองหุ้น ขณะที่กลุ่มคนไทยมีอยู่ประมาณ 30% หากคิดที่ 3,000 ล้านบาทเท่ากับกลุ่มทุนไทยจะต้องหาเงินราว 1,000 ล้านบาทมาเติม ล่าสุด มีรายงานว่า ทางญี่ปุ่นมีความพยายามจะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติเพิ่มทุนให้แล้ว เสร็จภายในไม่กี่สัปดาห์จากนี้ โดยอาศัยการถือครองหุ้นส่วนใหญ่ คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามความต้องการ ขณะที่ผู้ถือหุ้นชาวไทยเสียงส่วนน้อยไม่มีทางเลือกมากนัก “ในกรณีนี้เชื่อว่า ผู้บริหารญี่ปุ่นต้องทราบอยู่แล้วว่า ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้คงไม่มีใครอยากจะหาเงินมหาศาลเช่นนี้มาซื้อหุ้นเพิ่ม ทุนซึ่งเมื่อหามาไม่ได้ก็จำเป็นต้องขายหุ้นออกไป โดยหากไม่ขายก็จะหาทางบอกว่ามูลค่าหุ้นที่ทางผู้ถือหุ้นไทยถืออยู่จะมี มูลค่าลดลงเรื่อยๆ หรือ ไม่มีมูลค่าต่อไปอีกแล้ว ทางญี่ปุ่นก็จะฉวยโอกาสนี้รับซื้อไว้ ถือเป็นการฮุบกิจการแบบไม่ต้องลงทุนลงแรงมากนัก” แหล่งข่าวกล่าวและว่า การเร่งเพิ่มทุนนี้นอกจากผู้บริหารญี่ปุ่นในไทยจะปิดบังข้อเท็จจริงที่ บริหารงานผิดพลาดต่อบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นได้ยังสามารถอ้างผลงานการฮุบกิจการ คนไทยเป็นความดีความชอบได้อีก ส่วนฟากของผู้ถือหุ้นไทยเองเบื้องต้นหากยอมรับการเพิ่มทุนก็เท่ากับยอมรับใน การบริหารงานที่ผิดพลาดของผู้บริหารญี่ปุ่น ปัญหาก็จะเกิดขึ้นตามมาทั้งการฟ้องร้องคดี และ พยายามต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมต่อไป ทว่า ด้วยสัดส่วนที่ถือหุ้นน้อยกว่า และ ด้วยกฎข้อบังคับของ พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม อนุญาตให้บริษัทประกันภัยสามารถลดทุนก่อนแล้วค่อยเพิ่มทุนเหมือนกรณีของ สถาบันการเงิน การต่อสู้ของกลุ่มผู้ถือหุ้นไทยก็คงทำอะไรได้ไม่มากนอกจากประวิงเวลา สุดท้ายผู้ถือหุ้นรายใหญ่ก็จะสามารถทำอย่างที่พวกเขาต้องการได้ นั่นคือ เข้ามาฮุบส่วนของผู้ถือหุ้นคนไทยได้ “เท่าที่พูดคุยกันในวงการประกันฯ ในส่วนบริษัทที่มีคนไทยถือหุ้นอยู่ เรื่องนี้น่าเป็นห่วงมาก คปภ. ควรต้องลงมาดูแลว่า ธุรกิจของคนไทยถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไร นอกจากถูกดึงมาร่วมรับผิดชอบกับการบริหารงานที่ผิดพลาดของทุนต่างชาติแล้ว ยังจะถูกฮุบกิจการไป เหตุการณ์จะเดินตามประวัติศาสตร์ของแบงก์-ไฟแนนซ์ที่ถูกต่างชาติเข้ามายึด ครองช่วงวิกฤติการเงินช่วงปี 2540 อย่างไม่ต้องสงสัย สุดท้ายธุรกิจประกันภัยอันเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงทาง เศรษฐกิจ การเงิน สังคม และความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทย ก็จะไม่เหลืออยู่ในอำนาจการบริหารงานของคนไทยเลย” แหล่งข่าวกล่าว
ข้อมูลจาก ผู้จัดการ ออนไลน์
|
Tags: ข่าวญี่ปุ่น | ดิสเครดิต | ประกันภัย | ลงทุนไทย | วิกฤตหนัก