ซัพพลายเออร์จุดพลุเลย์ออฟ ดิ้นหนีขาลง "เจแปน อิงค์" ขณะเศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่โหมดซบเซาเรื้อรัง จีดีพีที่มีแนวโน้มหดตัว 0.4% ในปีนี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่โหมดซบเซามายาวนาน เห็นได้จากตัวเลขจีดีพีที่มีแนวโน้มหดตัว 0.4% ในปีนี้ และยังเผชิญกับการขาดดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 31 ปี โดยตัวเลขขาดดุลการค้าอยู่ที่ 2.49 ล้านล้านเยนในปี 2554 ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวเช่นนี้ ประกอบกับเหตุธรณีวิปโยคและคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในไทย ค่าเงินเยนที่แข็งค่าต่อเนื่อง ล้วนซ้ำเติมภาคการผลิตที่เป็นเหมือนกลจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแดนอาทิตย์อุทัย ล่าสุด ยักษ์อิเล็กทรอนิกส์ "พานาโซนิค" ออกมาแย้มเตือนว่า บริษัทอาจประสบกับภาวะขาดทุนครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์นับแต่ก่อตั้ง โดยผลประกอบการปีงบประมาณล่าสุดที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม อาจขาดทุนกว่า 7.8 แสนล้านเยน (ราว 1.02 หมื่นล้านดอลลาร์) เนื่องจากภัยธรรมชาติที่กระทบห่วงโซ่อุปทาน ผลจากค่าเงินเยน ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และตัวเลขค่าใช้จ่ายในการซื้อกิจการของค่ายซันโย ด้าน "โซนี่" ที่เพิ่งแต่งตั้งลูกหม้อ "คาซูโอะ ฮิราอิ" มานั่งเก้าอี้ซีอีโอแทน "โฮเวิร์ด สตริงเจอร์" ก็ประเมินว่า ผลประกอบการปีล่าสุดที่สิ้นสุดเดือนมีนาคม อาจขาดทุนราว 2.2 แสนล้านเยน หรือประมาณ 2.9 พันล้านดอลลาร์ เหตุเพราะภาวะการเงินโลกและในประเทศที่ตึงตัว เพิ่มจากก่อนหน้านี้ที่คาดการณ์ว่าจะขาดทุน 9 หมื่นล้านเยน (1.2 พันล้านดอลลาร์) ดังนั้น ซีอีโอคนใหม่ย่อมต้องพบกับภารกิจสุดหินที่จะพลิกฟื้นสถานการณ์ของยักษ์อิเล็กทรอนิกส์แดนซามูไร สิ่งเหล่านี้สะท้อนชัดว่า "เจแปน อิงค์" กำลังเผชิญความยากลำบากจากหลากหลายปัจจัยที่ล้วนฉุดต้นทุนการผลิตให้สูงขึ้น โดยเฉพาะซัพพลายเออร์ที่ได้รับผลกระทบหนักไม่แพ้กัน "บลูมเบิร์ก" ระบุว่า ซัพพลายเออร์ญี่ปุ่นหลายรายต้องดิ้นรนอย่างหนัก และหลายแห่งหนีไม่พ้นกระแสเลย์ออฟ ดูอย่าง "ซัมโก้ คอร์ป" ซัพพลายเออร์รายหนึ่งของ "โซนี่" และ "โตชิบา" เพิ่งประกาศโละพนักงาน 1,300 คน ส่วนผู้ผลิตกระจกรถยนต์ "นิปปอน ชี้ต กลาส โค." ที่ป้อนสินค้าให้ "มาสด้า คอร์ป" ก็เตรียมเลย์ออฟพนักงาน 3,500 ตำแหน่ง ตามรอย "เอ็นอีซี คอร์ป" ที่ประกาศลดพนักงาน 10,000 คนไปเมื่อเดือนที่แล้ว ค่าเงินเยน เป็นปัจจัยสำคัญที่ซ้ำเติมบรรดาเจแปน อิงค์ เพราะเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น 7% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา สะเทือนบริษัทญี่ปุ่นอย่างถ้วนหน้า ไล่ตั้งแต่พานาโซนิค โซนี่ มาสด้า และชาร์ป ซึ่งต้องปรับแผนหั่นกำลังการผลิตโทรทัศน์ลงครึ่งหนึ่ง เพื่อลดจำนวนสินค้าคงคลัง อีกทั้งผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่นยังถูกแรงกดดันให้ย้ายฐานการผลิตออกไปนอกญี่ปุ่น รวมถึงบีบบรรดาซัพพลายเออร์ให้ลดต้นทุนการผลิตชิ้นส่วนลง "มิตซูชิเกะ อากิโนะ" จากอิชิโยชิ อินเวสต์เมนต์ แมเนจเมนต์ โค. ในโตเกียว มองว่า เมื่อยักษ์ใหญ่อย่างโซนี่และชาร์ปเดินสะดุด ก็พลอยฉุดให้ตัวเลขยบัญชีของบริษัทในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดเป็นสีแดง เงินเยนกำลังกลายเป็นอาวุธทำร้ายบริษัทที่มีฐานผลิตในญี่ปุ่น "โตชิฮิโร นากาฮามา" หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันไดอิชิ ไลฟ์ อินชัวรันซ์ รีเสิร์ช อินสติติวท์ กล่าวว่า นี่เป็นหายนภัยครั้งใหญ่สุดสำหรับผู้ผลิตญี่ปุ่นนับจากสงครามโลกเป็นต้นมา ทั้งนี้ ซัมโก้ ประเมินว่า ตลอดทั้งปีบริษัทจะขาดทุน 8.5 หมื่นล้านเยน (1.1 พันล้านดอลลาร์) และร้องขอให้ "ซูมิโตโม มีทัล อินดัสตรีส์" ที่ถือหุ้น 28% เข้ามาซื้อหุ้นบุริมสิทธิ์ โดยบริษัทจะนำเงิน 5.82 หมื่นล้านเยนไปใช้ปรับโครงสร้าง และมีแผนจะปิดโรงงาน 2 แห่งในญี่ปุ่น ด้านนิปปอน ชี้ต กลาส คาดว่าจะขาดทุน 3 พันล้านเยนในปีงบประมาณล่าสุด เทียบกับปีก่อนหน้าที่มีกำไร 1.4 หมื่นล้านเยน การปรับลดพนักงานจะมีต้นทุนราว 2.5 หมื่นล้านเยน แต่จะช่วยประหยัดเงินได้ราว 2 หมื่นล้านเยนต่อปีหลังการปรับโครงสร้าง
|
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
Tags: GDPญี่ปุ่น | japan ink | เจแปนอิงค์ | เศรษฐกิจญี่ปุ่น