เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังการเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นเพื่อสร้างความมั่นใจและชี้แจง แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้กับนักลงทุนชาวญี่ปุ่นว่า ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และพร้อมให้การสนับสนุนประเทศไทย ในการจัดทำแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างเต็มที่ ขณะที่นักลงทุนชาวญี่ปุ่นก็ได้แสดงความมั่นใจ ที่ไทยได้เชิญองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า) เข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้วย “นักธุรกิจญี่ปุ่นเชื่อมั่นในแผนจัดการน้ำระยะสั้น ในหลายส่วน เช่น การกำหนดความสูงของพนังกั้นน้ำ การจัดทำระบบประตูระบายน้ำตามคูคลองที่ต้องเชื่อมถึงตำแหน่งการสูบน้ำ และการเบี่ยงเส้นทางน้ำ ผมได้ยืนยันว่าทั้งหมดจะทำสำเร็จภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า” นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า ในระหว่างการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธ์ศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ได้เดินทางไปพบกับบริษัทประกันรายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น เพื่อชี้แจงผลการหารือร่วมกับบริษัท ลอยด์ ออฟ ลอนดอน ซึ่งเป็นบริษัทรับประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งบริษัทประกันภัยญี่ปุ่น ยืนยันว่า จะรับประกันภัยในประเทศไทยต่อโดยไม่มีเงื่อนไขเพิ่มเติมแต่อย่างใด และได้รับการยืนยันจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงบริการทางการเงิน ว่าจะประสานงานกับบริษัทประกันภัยในประเทศให้อีกด้วย “ผมได้ยืนยันกับทางญี่ปุ่นไปว่า การพัฒนาประเทศไทยที่จะเกิดขึ้น จะไม่ได้ดูแค่เรื่องน้ำท่วมอย่างเดียว แต่จะมีการลงทุนเรื่องระบบโลจิสติกส์ที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน การพัฒนาเส้นทางจะเชื่อมโยงทั้งฝั่งตะวันออกไปยังตะวันตก ถึงเขตอุตสาหกรรมพิเศษ ทวายที่พม่ากำลังดำเนินการอยู่ รวมถึงเส้นทางภาคเหนือก็จะเชื่อมโยงจากภาคใต้ของจีน ผ่านกทม. ไปจนถึงภาคใต้ของประเทศไทย ก็จะมีการหยิกยกขึ้นมาพิจารณาด้วย ซึ่งญี่ปุ่นก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่” นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะสั้น คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์หลังจากนี้ จะมีความชัดเจนออกมา ทั้งเรื่องการก่อสร้างพนังกั้นน้ำถาวรตามแม่น้ำสายหลัก การขุดลอกคูคลองที่ตื้นเขิน ซึ่งในขั้นตอนการดำเนินงานอาจจะต้องมีการย้ายสิ่งปลูกสร้าง ที่ขว้างทางน้ำ เช่น บ้านเรือน แต่จะพยายามไม่ให้กระทบกับคนหมู่มาก เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด แต่ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรม คงไม่สามารถย้ายได้ เนื่องจากเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง นางสาวอนุตตมา อมรวิวัฒน์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกิตติรัตน์ ได้รายงานผลการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นให้ครม.ได้รับทราบ พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ เร่งรัดการดำเนินงานตามข้อเสนอของฝ่ายญี่ปุ่น ที่ต้องการให้รัฐบาลไทย ดำเนินการให้ อาทิ การให้กรมศุลกากรพิจารณาเร่งรัดการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์และวัตถุดิบ ให้กับบริษัทญี่ปุ่นเพื่อทดแทนส่วนที่เสียหายจากอุทกภัยและอำนวยความสะดวก พิธีการศุลกากรที่ง่าย สะดวก และรวดเร็ว , ให้กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงแรงงานสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตราและใบอนุญาตทำงานให้แก่ผู้เชี่ยวชาญต่าง ประเทศที่จะเข้ามาฟื้นฟูระบบการผลิตในบริษัท ไม่เกิน 1 ปี รวมถึงการมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน รวมกับกระทรวงมหาดไทย จัดหาน้ำบริสุทธิ์และน้ำสะอาดเพียงพอต่อการทำความสะอาดเครื่องจักรอุปกรณ์ และระบบไฟฟ้าให้เพียงพอกลับโรงงานอุตสาหกรรมที่กลับเข้าสู่กระบวนการผลิต
ข้อมูลจาก มติชน ออนไลน์ |
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|