วอลล์สตรีท เจอร์นัล - ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากผลกระทบอุทกภัยครั้งใหญ่ในไทยกำลังแพร่ลามไปสู่ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตรายใหญ่ๆ ของโลกมากขึ้นเป็นลำดับ ขณะที่ห่วงโซ่อุปทานสินค้าและชิ้นส่วนอะไหล่หยุดชะงัก ทั้งนี้จากรายงานข่าวของวอลล์สตรีท เจอร์นัล หนังสือพิมพ์ทรงอิทธิพลของสหรัฐฯ ฉบับวันพฤหัสบดี (27) ในรายงานข่าวดังกล่าวระบุว่า บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ รวมถึงมิชลิน ผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ของโลก ได้ดำเนินรอยตามบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป โดยสั่งระงับการผลิตในโรงงานบางส่วนที่ประเทศไทยตั้งแต่เมื่อวันพุธ (26) ที่ผ่านมา ฟอร์ด ยักษ์อุตสาหกรรมยานยนต์สัญชาติอเมริกัน ระบุว่า นับตั้งแต่เกิดวิกฤตน้ำท่วมในไทยเป็นต้นมา พวกเขาผลิตรถยนต์ได้น้อยลงกว่าที่ตั้งเป้าไว้ตอนแรกถึง 17,000 คันแล้ว และคาดว่าจำนวนที่จะขาดหายไปทั้งหมดอาจสูงถึง 30,000 คัน ฟอร์ดกล่าวว่า “กำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับบรรดาซัปพลายเออร์ที่ได้รับผลกระทบ โดยหวังจะให้พวกเขารีบกลับไปดำเนินการผลิตชิ้นส่วนหรืออะไหล่ให้เร็วที่สุด เท่าที่ทำได้ ตลอดจนลดความเสี่ยงจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ส่วนกิจการอื่นๆ” ขณะที่โฆษกหญิงของมิชลิน กล่าวว่า ทางบริษัทได้สั่งระงับการผลิตในโรงงานหลายแห่งบนพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง พร้อมกับคาดการณ์ว่า ยอดขายยางรถยนต์ให้กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ตลอดจนจำนวนผลผลิตโดยรวมน่าจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก ด้าน เลอโนโว กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์สัญชาติจีน กล่าวเมื่อวันพุธว่า พวกเขาคาดว่าจะขาดแคลนอุปกรณ์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า ในขณะที่มวลน้ำก้อนมหึมาขนาดเท่ากับมลรัฐคอนเนตทิคัตของสหรัฐฯ กำลังถาโถมเข้าใส่บรรดาผู้ผลิตชิ้นส่วนของเลอโนโว โดยที่ทะลักเข้าท่วมหลายเขตทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ แล้ว ไอเอชเอส ไอซัปพลาย บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี เตือนว่า ผลผลิตอุปกรณ์ฮาร์ดดิสก์ทั่วโลกอาจลดฮวบลงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ จากผลกระทบน้ำท่วมในไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ป้อนตลาดโลกด้วยสัดส่วนสูงถึงราว 40 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้พิษน้ำท่วมได้ส่งผลให้โรงงานหลายแห่งของบริษัทเวสเทิร์น ดิจิตอล คอร์ป ในไทย ต้องปิดสายการผลิตลงชั่วคราว ขณะที่บริษัท ซีเกต เทคโนโลยี พีแอลซี ก็ระบุว่า พวกเขาอาจประสบภาวะขาดแคลนชิ้นส่วนอะไหล่ในอีกไม่ช้านี้ เมื่อเร็วๆ นี้ ทิม คุก ซีอีโอคนใหม่ของแอปเปิล อิงค์ บอกกับนักวิเคราะห์วอลล์สตรีทว่า ตัวเขาเองก็คาดการณ์ไว้เช่นกันว่า จะเกิดภาวะขาดแคลนอุปกรณ์ดิสก์ไดรฟ์ ขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้านี้ โดยที่บริษัทคอมพอล อิเล็กทรอนิกส์ อิงค์ ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คของไต้หวัน กล่าวเมื่อวันพุธว่า พวกเขามีชิ้นส่วนประกอบเพียงพอไว้สำหรับสายการผลิตจนถึงแค่เดือนพฤศจิกายน เท่านั้น เวลานี้ ภัยพิบัติในไทยซึ่งเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ กำลังจุดชนวนให้เกิดการถกเถียง เกี่ยวกับแนวคิดและวิธีปฏิบัติของบริษัทจำนวนมาก ที่พยายามบริหารห่วงโซ่อุปทานของพวกเขาให้เหลือสินค้าคงคลังน้อยที่สุดเพื่อ วัตถุประสงค์ทางการแข่งขันและประสิทธิภาพการผลิตระยะสั้น ทว่านั่นกลับทำให้เกิดปัญหาหนักในยามที่สถานการณ์ไม่ปกติ โดยเฉพาะเมื่อเกิดภัยพิบัติที่ไม่คาดคิดขึ้นจนทำให้สินค้าขาดตลาด “เท่าที่เราได้เห็นจากทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น และตอนนี้ก็น้ำท่วมในไทยนั้น แสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์หายนะ ตลอดจนผลกระทบอันกว้างขวางของมัน กำลังกลายเป็น 'บรรทัดฐานใหม่' และไม่ใช่เหตุการณ์พิเศษที่นานๆ จะเกิดขึ้นอีกต่อไป” ผู้เชี่ยวชาญด้านโซ่อุปทานในเอเชีย ให้ทัศนะโดยที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ พอล มาร์ติน รองประธานฝ่ายยุทธศาสตร์ห่วงโซ่อุปทานแห่งบราโวโซลูชัน สปา (BravoSolution SpA) ในมิลาน ให้ทัศนะว่า หลายๆ บริษัทมีปัจจัย 3 ประการที่จะพิจารณาว่าเกี่ยวกับการจัดระบบห่วงโซ่อุปทานของพวกเขา ซึ่งประกอบด้วย ปัจจัยด้านกำลังการผลิตสูงสุด, สินค้าคงคลัง และระยะเวลาที่จำเป็นสำหรับการปรับเปลี่ยนการผลิตในช่วงที่อยู่ในสถานการณ์ ยุ่งเหยิง ทางด้าน ตชิบา คอร์ป ระบุว่า พวกเขาเริ่มทำการผลิตอุปกรณ์ฮาร์ดดิสก์ในฟิลิปปินส์แทนแล้วตั้งแต่วันอังคาร (25) หลังจากที่ต้องระงับการผลิตในโรงงานไทยรวม 9 แห่ง ส่วนมาสด้า มอเตอร์ ก็บอกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า พวกเขาเตรียมพิจารณานำเข้าชิ้นส่วนมาจากส่วนกิจการของพวกเขาในจีนและญี่ปุ่น เพื่อนำมาป้อนสายการผลิตในโรงงานไทยอีกครั้ง ขณะที่ นิเดก คอร์ป (Nidec Corp.) ผู้ผลิตมอเตอร์สำหรับฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ก็บอกว่า จะเพิ่มเพดานการผลิตในโรงงานฟิลิปปินส์และจีนมากขึ้น
ข้อมูลจาก ผู้จัดการ ออนไลน์
|
Tags: ข่าวญี่ปุ่น | น้ำท่วม | ผลกระทบ | ลูกโซ่ | สอนภาษาญี่ปุ่น | อาจารย์แบงค์ | อุตสาหกรรมญี่ปุ่น