นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้หารือร่วมกับธนาคารกลางญี่ปุ่น อนุญาตให้สถาบันการเงิน ปล่อยสินเชื่อในรูปแบบเงินบาท แก่ผู้ประกอบการและธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยใช้หลักทรัพย์ของรัฐบาลญี่ปุ่นมาเป็นหลักประกัน ในการกู้เงินแก่สถาบันการเงินในไทยทั้งสาขาธนาคารพาณิชย์ไทยและต่างประเทศ ได้ โดยไม่จำกัดวงเงิน คาดว่ากระบวนการต่างๆ จะเริ่มดำเนินการได้ ภายใน 2 สัปดาห์หลังจากนี้ไป วงเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องการสภาพคล่องในการฟื้นฟูธุรกิจหลัง น้ำลด นอกจากนี้ ธปท.เตรียมขอความร่วมมือกับธนาคารกลางสหรัฐ อังกฤษ และเยอรมนี เพื่อดำเนินการรูปแบบเดียวกัน “เบื้องต้นเรายังคงประเมินไม่ได้ว่ามีความเสียหายเท่าไหร่ แต่เชื่อว่าคงได้รับความเสียหายไม่น้อย โดยเฉพาะกับภาคอุตสาหกรรมการผลิต ที่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยโดยเฉพาะจากญี่ปุ่น โดย ธปท. เชื่อว่าหลังจากนี้กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ คงจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลในการฟื้นฟูธุรกิจของตัวเอง โดยการร่วมมือกันระหว่าง 2 ธนาคารกลาง จะช่วยส่งเสริมให้ตลาดการเงินมีการปรับตัวอย่างมีเสถียรภาพและขยายช่องทางใน การปล่อยสภาพคล่องของเงินบาทด้วย” ทั้งนี้หลังจากที่รัฐบาลประกาศให้วันที่ 27-31 ต.ค. นี้เป็นวันหยุดราชการนั้น ในส่วนของระบบการทำงานของ ธปท.จะพยายามให้การดำเนินการเป็นไปอย่างปกติ และอยากให้การปิดสถาบันการเงินเป็นตัวเลือกสุดท้าย เพราะหากปิดสถาบันการเงินลงจะกระทบต่อระบบการค้าระหว่างประเทศ และที่ผ่านมาสาขาต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเป็นการปิดสาขานั้นๆ แต่ระบบการดำเนินการยังอยู่ที่สำนักงานใหญ่ ซึ่งยังสามารถดำเนินการไปได้ นายประสาร กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการเรียกประชุมนัดพิเศษคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อทบทวนนโยบายการเงิน เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่นิ่ง และยังไม่สามารถประเมินผลกระทบได้อย่างชัดเจน ดังนั้นหาก ธปท.ดำเนินนโยบายการเงินกลับไปกลับมาจะสร้างความสับสนให้กับตลาด และความเชื่อมั่นได้ โดยการตัดสินใจคงดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ระดับอัตราดอกเบี้ยเข้าใกล้ระดับสมดุลแล้ว จึงขอเวลาประเมินผลการใช้นโยบายการเงินเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ส่วนความกังวลว่าปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น จะส่งผลให้ลูกค้าผิดนัดชำระหนี้ และกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) นั้น เบื้องต้น คาดว่าจะไม่มากนัก เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ยังบริหารจัดการได้ ประกอบกับกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมนั้น จะมีการผ่อนผันการชำระเงินเป็นเวลาอย่างน้อย 6-12 เดือน ส่วนกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 5 แห่งนั้น มียอดวงเงินสินเชื่อคงค้าง 60,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่มีบริษัทแม่อยู่ต่างประเทศ ทำให้ไม่น่ากังวลมากนัก “เราไม่ค่อยกังวลเรื่องของหนี้เสีย เพราะเชื่อว่าสถาบันการเงินคงมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจาก น้ำท่วม ส่วนนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นบริษัทข้ามชาติที่มีบริษัทแม่อยู่ต่างประเทศ ก็เชื่อว่าบริษัทแม่คงไม่ปล่อยบริษัทต่างๆ อย่างแน่นอน สำหรับสิ่งสำคัญตอนนี้คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ว่าในอนาคตจะมีมาตรการดูแลอย่างไรเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการย้ายฐานการลงทุนในภายหลัง นอกจากนี้ยังต้องอธิบายให้ผู้ประกอบการเข้าใจว่า ประเทศไทยยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ไม่ได้รับความเสียหายในครั้งนี้ด้วย” นายประสาร กล่าวว่า ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้อย่างแน่นอน เนื่องจาก 5 นิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียหายมีมูลค่าทั้งสิ้น 1 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะทำให้จีดีพีปีนี้ชะลอตัวมากกว่า 1% หรือขยายตัวต่ำกว่า 3% จากที่ประเมินไว้ก่อนหน้าว่าทั้งปีจีดีพีจะขยายตัวได้ 4.1% อย่างไรก็ตาม ธปท.เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติยังมีความมั่นใจต่อเศรษฐกิจประเทศไทย เพราะยังให้ผลตอบแทนที่ดี ค่าเงินบาทยังอยู่ในกรอบ แต่ก็ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นและการป้องกันน้ำท่วมในระยะยาว ขณะที่อุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วมในขณะนี้คิดเป็น 17-20% ของทั้งหมด.
ข้อมูลจาก เดลินิวส์ ออนไลน์
|
Tags: ธนาคารแห่งประเทศไทย | ธุรกิจญี่ปุ่น | น้ำท่วม2554 | พันธบัตรญี่ปุ่น | เร่งช่วย