'ยุ่น' สยอง กังวลรัฐบาลไทยจมแต้มแก้ไขน้ำท่วม 'ฮอนด้า' รอแผนแก้น้ำท่วม หากรัฐบาลไม่ชัดเจน มีแววย้ายการลงทุนทูตเศรษฐกิจญี่ปุ่นขอฟังแผนงานรับมือ และฟื้นฟู “โซนี่” กระทบ เลื่อนเปิดตัวกล้องรุ่นใหม่ของโลก “ไข่ไก่” ราคากระฉูด ขยับไปขายแผงละ 150 บาท ตลาดปิดเงียบ ส่งสินค้าเข้าไปขายไม่ได้ 35 ประเทศเตือนระวังอุทกภัยเที่ยวไทยน่าเป็นห่วง ธนาคารโลกประเมินศก.โลกกระทบห่วงโซ่การผลิต หวั่นข้าวราคาแพง ธปท.กังวลอัตราขยายตัวติดลบ เชื่อกนง.ทบทวนมาตรการการเงิน “วรรณรัตน์” เยี่ยม 5 นิคม “สุภาพ” เผยหากนิคมจมน้ำคงถูกสมน้ำหน้าเป็นแถว บอก 5 นิคมฯ เอาตัวรอด เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เวลา 15.00 น. นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม พร้อมด้วยผู้บริหารการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ตรวจเยี่ยมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาน้ำท่วมในนิคมฯ ต่าง ๆ ที่อยู่ในฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ประกอบด้วยนิคมฯ บางชัน, นิคมฯ บางปู, นิคมฯ บางพลี, นิคมฯ เวลโกรว์ และนิคมฯ ลาดกระบัง เพื่อนำปัญหาต่าง ๆ เสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือในการรับสถานการณ์เร่งด่วน นายสุภาพ คลี่ขจาย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ต้องการให้นิคมฯ ต่าง ๆ ที่เหลือเตรียมแผนรองรับปัญหาน้ำท่วมให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะหากในนิคมฯ ในฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมในครั้งนี้ เชื่อว่ากระแสสังคมก็จะสมน้ำหน้ากระทรวงอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ เพราะในช่วงที่ผ่านมามีสถาน การณ์นิคมน้ำท่วม 5-6 แห่งแล้ว เตือนโรงงานไม่ย้ายของ นายสมคิด แท่นวัฒนกุล รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา กนอ.ได้เตือนโรงงานที่อยู่ในนิคมฯ ต่าง ๆ ที่ถูกน้ำท่วมแล้วให้ปิดโรงงานชั่วคราวและขนทรัพย์สินต่าง ๆ ออกไปไว้ในที่ปลอดภัย แต่มีโรงงานจำนวนมากไม่เชื่อกับการตักเตือน เพราะประเมินว่าโรงงานและนิคมฯ สามารถรับมือได้ ที่สำคัญโรงงานบางแห่งได้นำนักวิชาการที่มีความชำนาญด้านน้ำมาอธิบายถึง ทฤษฎีว่าจะไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมนิคมฯ แต่สุดท้ายก็ท่วมจนได้ นางมณฑา ปนุทนรพาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กนอ.ได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการในนิคมฯ บางชัน 93 โรงงาน หยุดประกอบกิจการและเตรียมแผนอพยพแรงงานต่อจากนิคมฯ ลาดกระบังแล้วเนื่องจากเพื่อความไม่ประมาทซึ่งที่ผ่านมา กนอ.ได้มีการแจ้งเตือนกับเอกชนในนิคมฯ ต่าง ๆ ที่น้ำท่วมไปแล้วก่อนหน้าแต่ยอมรับว่ามีเอกชนไม่น้อยที่ไม่ยอมขนย้ายเครื่อง จักรเพราะประเมินภาวะน้ำท่วมค่อนข้างต่ำ ส่วนนิคมฯ ภาคตะวันออกที่เหลือ เช่น นิคมฯ บางปู บางพลี เวล โกรว์ อัญธานี ผู้ประกอบการบางส่วนก็ได้มีการเตรียมพร้อมในการขนย้ายเครื่องจักรที่สำคัญไป แล้ว รวมถึงมีการระดมแรงงานของแต่ละแห่งในการวางกระสอบทรายและคันกั้นน้ำของแต่ละ โรงงาน โดยจะรอสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะประเมินขั้นสุดท้ายต่อไป ญี่ปุ่นรอท่าทีความชัดเจน นายมาซาโตะ โอทากะ อัครราชทูตฝ่ายเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ทางบริษัทญี่ปุ่น หวังว่ารัฐบาลน่าจะมีวิธีการว่าทำอย่างไรให้อุทกภัยเกิดขึ้นน้อยที่สุด ซึ่งในส่วนของนักลงทุนญี่ปุ่นโดยรวมเข้าใจปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นแต่ต้อง การให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว นายเซตสึโอะ อิอูจิ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า แม้ว่านักลงทุนญี่ปุ่นยังเห็นว่าไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน แต่สถาน การณ์ที่กำลังขยายวงกว้างต้องการให้รัฐบาลออกมาชี้แจงว่าจะรับมือกับ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร รวมถึงออกมาเปิดเผยข้อมูลว่าจะให้ความช่วยเหลือบริษัทญี่ปุ่นที่ประสบ อุทกภัยอย่างไรให้กลับมาฟื้นฟูโดยเร็ว ขณะเดียวกันรัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือกับบริษัทญี่ปุ่น ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมแบบไหน เพราะจากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นได้ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจของบริษัท ญี่ปุ่นชะลอตัวเหมือนกัน “ฮอนด้า”ผวาจ้องเผ่นหนี นายพงษ์เดช ศรีวชิรประดิษฐ ผู้จัดการทั่วไป บริษัทไทยฮอนด้า เมนูเฟคเตอร์ริ่งจำกัด กล่าวว่า ผู้บริหารระดับสูงจากประเทศญี่ปุ่นของฮอนด้ากำลังเสียขวัญอย่างมาก จากเหตุการณ์น้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งผู้บริหารฝากบอกกับรัฐบาลว่าหากนิคมฯลาดกระบังถูกน้ำท่วมอีก นักลงทุนก็คงขนกระเป๋ากลับบ้าน เพราะคงหมดเนื้อหมดตัวแน่ หลังจากที่ฐานผลิตรถยนต์ฮอนด้าที่ใหญ่สุดของไทยในเขตประกอบการโรจนะถูกน้ำ ท่วม และที่นิคมฯลาดกระบังก็เป็นฐานผลิตรถจักรยานยนต์ฮอนด้าใหญ่ที่สุดของไทยเช่น กัน ตอนนี้ฮอนด้าไม่สามารถที่จะเชื่อข้อมูลทั้งจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องได้เพราะมีข้อมูลที่หลากหลายและสับสนมาก 35 ประเทศเตือนเที่ยวไทย นายประกิตต์ พิริยะเกียรติ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติในภาวะวิกฤติ (ศวก.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ขณะนี้ล่าสุด มี 35 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ เกาหลี เป็นต้น ได้ประกาศเตือนนักท่องเที่ยวในการเดินทางมายังไทย ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มจากเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนที่มีประกาศ 19 ประเทศ ออกประกาศเตือนประชาชนถึงสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจหากจะเดินทางมาเที่ยว โดยคำเตือน แบ่งเป็น 4 ระยะความเข้มข้น จากน้อยไปหามาก ดังนี้ ให้ตื่นตัวต่อสถานการณ์ มี 12 ประเทศ,ให้ระมัดระวังการเดินทาง 15 ประเทศ, ให้ระมัดระวังอย่างสูง 15 ประเทศ และ ห้ามไม่ให้เดินทางไปในพื้นที่ที่มีน้ำท่วม 3 ประเทศ คือ เบลเยียม ไต้หวัน และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขณะที่ พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี ประธานคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.) กล่าวแสดงความมั่นใจว่า ขณะนี้ยังมั่นใจว่า ทั้งสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ ป้องกันน้ำท่วมเข้าสนามบินได้ โดยสนามบินสุวรรณภูมิได้ทำพนังกั้นน้ำสูงถึง 3.50 ม. แต่ยังเป็นห่วงสนามบินดอนเมือง ทางฝั่งเหนือ อาจมีน้ำไหลเข้ามาได้ จึงได้เตรียมกั้นกระสอบทรายไว้กว่า 10,000 กระสอบ เพื่อป้องกันไว้แล้ว เร่งเยียวยาภาคแรงงาน นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการด้านการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต ซึ่งมี พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรม การฯ ว่า กระทรวงแรงงานได้เสนอมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยใน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนายจ้าง และลูกจ้าง ส่วนกลุ่มประชาชนทั่วไป ที่ประชุมเห็นชอบให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นผู้ดูแลทั้งหมด นายเผดิมชัย กล่าวต่อว่า สำหรับแพ็กเกจที่กระทรวงแรงงานเสนอเข้าไป มีทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว เป็นแพ็กเกจ 2 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือสถานประกอบการ แยกเป็น 1. โครงการประกันสังคมเคียงข้างผู้ประกันตนต้านอุทกภัย ให้สถานประกอบการกู้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี คงที่ 3 ปี ผู้ประกันตน รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท อัตราดอกเบี้ย 2.5% ต่อปี คงที่ 2 ปี 2. โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ซึ่งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ส่วนกลุ่มลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง ประกอบด้วย 1. ให้มีการจ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 2. ใช้กองทุนสง เคราะห์ลูกจ้างไม่ได้รับเงินชดเชยให้ยื่นขอรับเงินสงเคราะห์ โดยจะพิจารณาจ่ายไม่เกิน 60 เท่าของค่าจ้างรายวัน ปัจจุบันกองทุนฯ มีเงิน 259 ล้านบาท 3. ประกันการว่างงานตามกฎหมายประกันสังคม โดยจ่าย 50% ของค่าจ้างเป็นเวลา 6 เดือน และ 4. จัดหาตำแหน่งงานว่างรองรับ 99,245 อัตรา อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ในวันที่ 21 ต.ค.นี้ ศก.ทรุดลดอัตราเติบโต นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้ประเมินผลกระทบเบื้องต้นจากเหตุ การณ์น้ำท่วมโดยคาดว่าทำให้เศรษฐกิจเสียหายราว 1 แสนล้านบาท และส่งผลทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ติดลบ และเชื่อว่าตลอดทั้งปี 54 จะขยายตัวลดลงมากกว่า 1% จากที่คาดการณ์เดิมไว้ที่ 4.1% ซึ่ง ธปท.ขอเสนอแนะว่ารัฐบาลต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และอธิบายให้นักลงทุนเข้าใจว่าไทยยังมีบริเวณอื่นที่ไม่ได้รับความเสียหาย จากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ด้วย เพื่อป้องกันการย้ายฐานการผลิต และเชื่อว่าหากเหตุการณ์น้ำท่วมยังรุนแรงต่อไป คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจหารือนัดพิเศษ เพื่อหาแนวทางดำเนินนโยบายการเงินให้สอดคล้องเหมาะสมต่อไป น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลกประเมินผลกระทบเศรษฐกิจจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท และจะทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายติดลบ เพราะความเสียหายส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตของภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่มองว่าการลงทุนเพื่อฟื้นฟูความเสียหายจะส่งผลให้เศรษฐกิจในปีหน้าเติบโต ได้สูงกว่าระดับ 4.4% และเชื่อว่าเหตุการณ์น้ำท่วมส่งผลโดยตรงทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น จากผลผลิตข้าวไทยที่หายไปกว่า 6-7 ล้านตัน ทุกข์ซ้ำไข่ไก่ราคากระฉูด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้สินค้าที่จำเป็นต่อภาวะน้ำท่วม เช่น รองเท้าบู๊ต แก๊สปิกนิก อาหารสำเร็จรูป น้ำดื่ม ไม่มีขายในท้องตลาดแล้ว ขณะที่อาหารสด ผัก ผลไม้ในเขตชานเมือง ราคาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง 1-2 เท่าตัว เช่น ผักคะน้าเป็น กก.ละ 50 บาท ผักบุ้งจีน 40 บาท กวางตุ้ง 40 บาท กะหล่ำ 45-50 บาท โดยเฉพาะผักชีปรับขึ้นวันเดียวจาก กก. 90-100 บาท เป็น 200-210 บาท รวมถึงไข่ไก่ ปรับขึ้นจากแผงละ 90-100 บาท เป็น 150 บาท นอกจากนี้ จากการสำรวจตามตลาดสดหลายแห่งย่านปทุมธานี รังสิต ดอนเมือง นนทบุรี พบว่าแผงขายสินค้าได้ปิดไปจำนวนมาก เนื่องจากบางส่วนไม่สามารถนำสินค้ามาจำหน่ายได้ นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดขบวนคาราวานรถธงฟ้าเคลื่อนที่ (โมบาย ยูนิต) นำสินค้าอุปโภคบริโภคไปจำหน่ายให้กับประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ที่การ เดินทางยากลำบาก และบริเวณใกล้เคียง โดยมีสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำตาลทราย น้ำมันพืช ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ของใช้ประจำวัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการหาซื้อสินค้า โดยขณะนี้มีรถโมบาย 10 คัน เพื่อกระจายจำหน่ายสินค้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 13 จุด โซนี่เลื่อนเปิดตัวกล้องใหม่ สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นว่า บริษัทโซนี่ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ของญี่ปุ่น แถลงว่า โซนี่ต้องเลื่อนการเปิดตัวกล้องดิจิตอลตัวใหม่ล่าสุด และหูฟังโทรศัพท์ อันเนื่องจากผลกระทบของน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย ทำให้ฐานการผลิตที่โรงงานในประเทศไทยที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และโรงงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในส่วนของอุปกรณ์การผลิต ต้องหยุดผลิตไว้ก่อน จากเดิมที่โซนี่เตรียมที่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดในวันที่ 11 พ.ย.นี้ แต่ก็ยังไม่ได้กำหนดว่าจะเปิดตัวใหม่ได้เมื่อใด หยุดผลิตรถญี่ปุ่น9ยี่ห้อ สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงโต เกียว ประเทศญี่ปุ่นว่า นายโตชิยูกิ ชิงะ นายกสมาคมผู้ประกอบการผลิตรถยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น แถลงว่า ภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นใประเทศไทยในขณะนี้ส่งผลให้ต้องยุติการผลิตรถยนต์ไว้ ก่อนชั่วคราวสำหรับรถยนต์ 9 ยี่ห้อ จากเดิมที่สามารถผลิตรถยนต์ได้วันละ 6,000 คัน อาทิรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน และ มิตซูบิชิ เป็นต้น นายชิงะ ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของนิสสัน กล่าวต่อไปว่า ผู้ผลิตอะไหล่รถยนต์กำลังพิจารณาที่จะย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น รวมทั้งการจัดส่งทางเรือสำหรับอะไหล่รถยนต์มาจากที่อื่น รวมทั้งจากญี่ปุ่นเองด้วย.
ข้อมูลจาก เดลินิวส์ ออนไลน์
|
Tags: ข่าวญี่ปุ่น | ซ้ำเติม | สอนภาษาญี่ปุ่น | อาจารย์แบงค์ | ไข่ราคาสูง