พันธุ์ทิพย์ดีเดย์เปิด "เกตเวย์ เอกมัย" มี.ค.55 สานแผนไลฟ์สไตล์ มอลล์ เจาะลูกค้าญี่ปุ่น เน้นไอทีไม่ฮาร์ดคอร์
พันธุ์ทิพย์ ดีเดย์ต้นปี 55 ผุดไลฟ์สไตล์ มอลล์ "เกตเวย์ เอกมัย" เซ็นสัญญาพันธมิตรไอทีรายใหญ่เปิดโซน "ไอที ไลฟ์สไตล์" ไม่เน้นฮาร์ดคอร์ เจาะลูกค้าญี่ปุ่นโซนกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ด้าน "ไอทีซิตี้-คอมเซเว่น" ถือฤกษ์ดีปรับโฉมคอนเซปท์ สโตร์ พาเหรดร่วมโครงการใหญ่ หวังขยายฐานลูกค้าเพิ่ม
นายวิษณุ หวังวิสุทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัททีซีซี แลนด์ รีเทล ผู้บริหารศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลา ซ่า กล่าวว่า บริษัทประกาศจับมือกับพันธมิตรกลุ่มผู้ค้าไอทีรายใหญ่ในไทย 9 ราย เช่น ไอที ซิตี้, คอมเซเว่น, ฮาร์ดแวร์เฮ้าส์ และซีเน็ค โดยเซ็นสัญญาร่วมทำธุรกิจในศูนย์การค้าแห่งใหม่ หรือ "เกตเวย์ เอกมัย" ที่มีกำหนดเปิดตัวในเดือน มี.ค.2555 ทั้งนี้ พันธมิตรดังกล่าวจะเป็นหนึ่งใน 4 โซนหลัก หรือ 25% ของศูนย์การค้าดังกล่าว เน้นขายสินค้าไอทีแนวไลฟ์สไตล์ และตอบโจทย์ลูกค้าทั่วไปที่อาศัยอยู่ในย่านเอกมัย หรือตะวันออกของกรุงเทพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งการปรับตัวของกลุ่มธุรกิจศูนย์การค้าไอที เนื่องจากปัจจุบันมีศูนย์การค้าไอทีกระจายอยู่ในทุกพื้นที่ และยังมีลูกค้าบางส่วนเริ่มหันไปซื้อสินค้าไอทีจากระบบออนไลน์ ทำให้ความจำเป็นที่จะต้องเดินทางมาซื้อสินค้าจากร้าน เช่น ห้างพันธุ์ทิพย์ ลดน้อยลง "ธุรกิจ ไอทีเปลี่ยนรูปแบบไปมาก โดยเฉพาะการค้าขายในตลาดศูนย์การค้าไอที ที่กระจายอยู่ทุกจังหวัด ทำให้เราก็ต้องปรับตัวทั้งการขยายสาขาให้ทั่วถึง และใช้เน็ตเวิร์คกิ้ง หรือไอทีเป็นตัวเชื่อให้มากขึ้น ส่วนรายได้เราก็กระทบบ้าง เพราะสินค้าไอทีหลายอย่างผู้ซื้อก็ยังต้องการความมั่นใจของสินค้า ได้สอบถามจากพนักงานอยู่ แต่ก็อยู่ระหว่างการคิดแผน และหาโซลูชั่นที่จะลงตัว" นายวิษณุกล่าว นายวิษณุ เผยว่า แผนการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่า 80% โดยจะเป็นศูนย์การค้าขนาดกลางมีพื้นที่ 53,000 ตารางเมตร งบลงทุนราว 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะแตกต่างจากพันธุ์ทิพย์ชัดเจนคือ จับกลุ่มผู้ซื้อสินค้าไอทีที่ไม่ฮาร์ดคอร์เหมือนกับลูกค้าพันธุ์ทิพย์ รวมถึงสินค้าไอทีที่มีดีไซน์เข้ากับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ประเภทแกดเจ็ท และอุปกรณ์เสริมต่างๆ เช่น สินค้าของร้านไอสตูดิโอ รวมทั้งยังมีโซนร้านค้าที่เน้นกลุ่มแฟชั่นเสื้อผ้าที่ออกแนวญี่ปุ่น, อาหาร และเอ็ดดูเทนเมนท์ เช่น โรงเรียนสอนวิชาด้านต่างๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับพันธุ์ทิพย์ประตู น้ำปีนี้ กำลังวางแผนปรับปรุงครั้งใหญ่ที่คาดว่า ใกล้จะเริ่มได้ และอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรรายใหญ่ในกลุ่มตัวแทนจำหน่ายสินค้าไอที เพื่อเช่าพื้นที่ต่อจากหลังจากกลุ่มดาต้าไอทีได้ถอนตัวออกจากพันธุ์ทิพย์ เนื่องจากประสบปัญหาภายใน นาย เอกชัย ศิริจิระพัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไอทีซิตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้พื้นที่ในการขายสินค้าไอทีในโครงการนี้ราว 1,500 ตารางเมตร ถือเป็นสาขาที่ใหญ่อันดับ 2 รองจากที่ห้างพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ โดยเน้นขายสินค้าไอทีใน 4 หมวดหลัก ได้แก่ 1.โน้ตบุ๊ค เดสก์ท็อป 2.อุปกรณ์ต่อพ่วง 3.แอสเซสซอรี่ 4.บริการ และโซนโมบิลิตี้ "การขยายสาขามาโครงการเกย์เวย์ เอกมัย เป็นหนึ่งในแผนการขยายสาขาไอทีซิตี้ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ราวกลางปี 55 ในส่วนสินค้า และบริการจะเน้นตอบสนองความต้องการผู้ซื้อเป็นหลัก และย่านเอกมัยถือเป็นทำเลทองที่สะดวกสบายในการเดินทาง มีรถไฟฟ้า ถือเป็นหนึ่งทางเลือกของลูกค้าไอทีย่านนี้" นายเอกชัย กล่าวว่า การที่ยังมีโครงการห้างไอทีเกิดขึ้น เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตที่ยังเพิ่มต่อเนื่อง และความต้องการสินค้าไอทีของลูกค้ายังมีอีกมาก จะเห็นว่า ขณะนี้สินค้าไอทีได้ขยายเข้าไปในศูนย์การค้าใหญ่ๆ และตามโมเดิร์นเทรดเพิ่มขึ้น "สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลัง ผันผวน อาจส่งผลกระทบถึงความไม่มั่นใจของผู้บริโภค แต่ถือเป็นปัญหาที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งหวังว่าจะไม่ถึงกับแย่ลงไปมาก และตอนนี้ยังอาจเร็วไปที่จะคาดการณ์" นายเอกชัย กล่าว นายสุระ คณิตทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอมเซเว่น อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า บริษัทมีแผนจะเปิดช้อปนำร่องที่ "เกตเวย์ เอกมัย" เพื่อเปลี่ยนคอนเซปท์ สโตร์ของบานาน่าไอทีใหม่ จากที่เคยเน้นการขายฮาร์ดแวร์อย่างเดียวเป็นการเพิ่มในส่วนของบริการพิเศษ ที่มีจะโซลูชั่นเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยตั้งเป้าเปลี่ยนคอนเซปท์ของร้านบานาน่าไอทีไว้ทั้งหมด 5 แห่ง รวมทั้งเพิ่มโซนที่เป็นเอ็กซ์พีเรียนให้ลูกค้าได้ทดลองใช้งาน ซึ่งมีกำหนดเริ่มดำเนินการต้นปีหน้า
ข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ
|
Tags: ข่าวญี่ปุ่น | พันธุ์ทิพย์ | สอนภาษาญี่ปุ่น | อาจารย์แบงค์ | เกตเวย์ | เอกมัย