เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ชมรายการข่าวของสถานีโทรทัศน์ญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ซึ่งในวันต่อมาได้แพร่หลายตามสื่อต่างๆ ทั่วโลก
รวม ทั้งประเทศไทยด้วย นั่นคือการแถลงข่าวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น เกี่ยวกับการที่ประชาชนและอาสาสมัครกู้ภัยในสามจังหวัดที่ประสบมหันตภัยแผ่น ดินไหวและสึนามิเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ปีนี้ คือ จังหวัดมิยางิ ฟูกูชิมา และอิวาเตะ ได้รวบรวมเงินสดที่ค้นพบในซากปรักหักพังจากภัยพิบัติได้ถึง 3,700 ล้านเยน หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1,480 ล้านบาท แล้วได้นำส่งมอบให้ตำรวจเพื่อตามหาเจ้าของ
เจ้าหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น กล่าวว่า ภายในระยะเวลา 4 เดือนหลังจากการเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิ มีผู้พบตู้เซฟรวมกันถึง 5,700 ตู้ โดยพบที่จังหวัดมิยางิ 2,420 ตู้ จังหวัดอิวาเตะ 2,370 ตู้ และจังหวัดฟูกูชิมา 910 ตู้ บางตู้เซฟมีเงินสดอยู่ถึง 100 ล้านเยน หรือประมาณ 40 ล้านบาท และมีเงินสดอีกบางส่วนที่บรรจุอยู่ในกระเป๋าถือกับกระเป๋าสตางค์ด้วยเนื่อง จากเงินสดส่วนใหญ่ถูกเก็บไว้ในตู้เซฟพร้อมกับสมุดเงินฝากธนาคารและโฉนด ที่ดิน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงสามารถสืบหาเจ้าของที่แท้จริงและคืนเงินสดให้แล้วประมาณ 96% ของจำนวนที่มีผู้ค้นพบ มหันตภัยแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นเมื่อต้นปีนี้ นอกจากจะทำให้ทั่วโลกได้ประจักษ์ถึงความมีระเบียบวินัยและความอดทนอย่าง เหลือเชื่อของคนญี่ปุ่นแล้ว ยังทำให้รู้สึกประหลาดใจในความซื่อสัตย์อย่างน่าทึ่งในครั้งนี้ด้วย เพื่อนๆ ของผู้เขียนที่ได้ทราบข่าวการนำเงินสดจำนวนมหาศาลส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ต่างพากันแปลกใจเพราะไม่ใช่มีคนญี่ปุ่นเพียงคนเดียวที่เป็นพลเมืองดี แต่เป็นชาวญี่ปุ่นจำนวนมากที่นำตู้เซฟถึง 5,700 ตู้ และกระเป๋าสตางค์อีกจำนวนมากมามอบให้ตำรวจ แต่ผู้เขียนซึ่งเคยใช้ชีวิตอยู่ในประเทศญี่ปุ่นถึง 5 ปีไม่รู้สึกประหลาดใจแต่อย่างใด และเห็นด้วยกับการให้สัมภาษณ์ของนายทสึคาซะ ชิบะ โฆษกสำนักงานตำรวจจังหวัดมิยางิ ที่ว่าเขาไม่แปลกใจในความซื่อสัตย์ของพลเมืองญี่ปุ่นเพราะเป็น “ธรรมชาติ” ของพวกเขา ทำไมประเทศญี่ปุ่นถึงสามารถสร้าง “ความซื่อสัตย์” ให้เป็นวัฒนธรรมของผู้คนส่วนใหญ่ได้ ? ทำไมเราจึงไม่เห็นการปล้นสะดม ร้านค้าเกิดขึ้นในขณะที่ประชาชนจำนวนมากกำลังประสบภัยพิบัติในญี่ปุ่นเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ? ผู้เขียนคิดว่าโครงสร้างสังคมของญี่ปุ่นที่เน้นความสำคัญของ “กลุ่ม” มากกว่า “บุคคล” และระบบการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพนั้นมีบทบาทสำคัญในการสร้าง วัฒนธรรมดังกล่าว กฎหมายญี่ปุ่นระบุว่า ถ้ามีผู้เก็บทรัพย์สินได้แล้วนำส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ไม่มีเจ้าของมารับคืน ภายใน 6 เดือน ผู้เก็บได้จะมีสิทธิครอบครองทรัพย์สินนั้น คนญี่ปุ่นได้รับการอบรมสั่งสอนเรื่องนี้ตั้งแต่ยังเด็ก การที่เด็กประถมญี่ปุ่นเก็บของได้ และนำส่งตำรวจที่ป้อมด้วยตนเองนั้น จึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประจำวันและไม่ได้เป็นข่าวใหญ่ตามสื่อต่างๆ แต่อย่างใด ป้อมตำรวจนั้นมีอยู่จำนวนมากในแต่ละพื้นที่ ตำรวจเป็นอาชีพที่มีรายได้ดีและมีสวัสดิการต่างๆ มากมายจึงสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพโดยไม่จำเป็นต้องหา “รายได้เสริม” ตำรวจญี่ปุ่นเน้นการทำงานด้าน “มวลชนสัมพันธ์” เพื่อให้เข้าถึงประชาคมต่างๆ ในเขตที่ตนรับผิดชอบ คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่สามารถตอบได้ทันทีว่าป้อมตำรวจที่ใกล้ที่สุดในละแวกที่พัก อาศัยอยู่ที่ใด และมีจำนวนไม่น้อยที่รู้จักชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำป้อมนั้นๆ ด้วย การนำสิ่งของที่เก็บได้ไปส่งคืนให้ตำรวจจึงไม่ใช่เรื่องยากลำบากหรือมีขั้น ตอนที่ซับซ้อนแต่อย่างใด เปรียบเสมือนกิจกรรมหนึ่งในชีวิตประจำวันของพวกเขา การให้ความสำคัญกับ “กลุ่ม” มากกว่า “บุคคล” นั้นเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติญี่ปุ่น ผู้คนของเขาได้รับการอบรมสั่งสอนให้เห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ความซื่อสัตย์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่นเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดดังกล่าว การคืนเงินจำนวนมหาศาลถึง 1,480 ล้านบาทครั้งนี้ พิสูจน์ได้ดีว่าพวกเขาไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนอย่างแท้จริง เราคนไทยก็เรียนเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตมาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่สามารถสร้างให้เป็น “วัฒนธรรม” ในสังคมได้ หรือเป็นเพราะว่า “ตัวอย่าง” ที่เห็นในสังคมไทยนั้นไม่ตรงกับ “ทฤษฎีแห่งความซื่อสัตย์” ที่ระบุไว้ในแบบเรียน?
ข้อมูงจาก นสพ.คอม
|
Tags: ข่าวญี่ปุ่น | ความซื่อสัตย์ | วัฒนธรรมคนญี่ปุ่น | สอนภาษาญี่ปุ่น | อาจารย์แบงค์